พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณี “ทิดแย้ม” อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง โดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ระบุว่า 7 วันที่ผ่านมา สำหรับคดีนี้ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยลงพื้นที่และเก็บข้อมูลรายละเอียดมาได้เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นหยุดยั้งการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัด โดยจะต้องแยกว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องบุคคล ไม่ใช่ส่วนรวม ซึ่งการสืบสวนมีทั้งการส่งคนไปสอดแนมเก็บข้อมูลรวบรวมหลักฐาน และการสืบสวนทางเทคโนโลยี จนได้ข้อมูลมา
ด้าน พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผู้กำกับการกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม เปิดเผยว่า ภายหลังมีผู้ร้องเรียนถึงเรื่องดังกล่าว ผู้บัญชาการได้มีคำสั่งส่งเรื่องมายังกองกำกับการ 5 เพื่อทำการตรวจสอบ จากนั้นมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่รวม 6 นาย แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1. ชุดวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน เนื่องจากลักษณะคดีเกี่ยวข้องกับการเงิน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างละเอียด ทั้งบัญชีวัด การใช้จ่าย และการโยกย้ายเงินต่าง ๆ เพื่อหาข้อพิรุธ
2. ชุดลงพื้นที่สืบสวนภาคสนาม โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ภายในวัด เพื่อรวบรวมข้อมูล สืบหาผู้เกี่ยวข้อง และตรวจสอบพฤติกรรม ตลอดจนความเชื่อมโยงของบุคคลต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการใช้เงินวัดในลักษณะที่ไม่เหมาะสม
หลังจากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด พบมีความน่าเชื่อถือว่า อดีตเจ้าอาวาสมีการยักยอกเงินของวัดไปใช้ในทางส่วนตัว มีทั้งการนำเงินไปให้บุคคลอื่นในวัดใช้ และนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเล่นพนัน
ด้าน พ.ต.อ.จำนาญ จันทร์เทศ ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ระบุว่า จากการตรวจสอบบัญชีย้อนหลังตั้งแต่ปี 64 มีเงินหมุนเวียนกว่า 300 ล้านบาท ล่าสุดมีการขยายผลตรวจบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง ทั้งของวัดและมูลนิธิ จำนวน 51 บัญชี บัญชีส่วนตัวของทิดแย้ม 21 บัญชี และ น.ส.อรัญญาวรรณ อีก 12 บัญชี โดยมุ่งเน้นไปที่เงินหมุนเวียนของ น.ส.อรัญญาวรรณ ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ พบว่า ตั้งแต่ปี 59 ตรวจเจอบัญชีมีเงินหมุนเวียนทั้งหมดกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งพบว่ามีช่องทางการรับเงิน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย
1. เป็นการฝากเงินสดเข้าบัญชี
2. รับโอนเงินจากอดีตเจ้าอาวาสโดยตรง
3. โอนเงินจากพระเอกพจน์ คนสนิทของอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง
4. รับโอนเงินจากนายชัชชัย
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า บัญชีวัดพบความผิดปกติหลายรายการ น่าจะเป็นการทำบัญชีไม่โปร่งใส ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเช่าร้านค้างานประจำปี ซึ่งหนึ่งปีจะมีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท เดิมทีมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แต่ปี 63 เป็นต้นมา มีการนำเงินสดทั้งหมดไปมอบให้กับเจ้าอาวาส โดยรวมประมาณ 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบเงินจากกฐินเข้าบัญชีเจ้าอาวาสอีก 20 ล้านบาท และยังมีเงินจากวัตถุมงคล ซึ่งยังไม่ระบุจำนวนแน่ชัด จากการตรวจสอบพบผู้เกี่ยวข้อง 2 คน ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน โดยที่มาที่ไปในการเปิดร้านค้าสวัสดิการ เป็นที่น่าสงสัย ซึ่ง ป.ป.ท. จะต้องตรวจสอบในเชิงลึกและติดตามทรัพย์สินต่อไป
เบื้องต้น ปปง. พิจารณาว่า การกระทำของอดีตเจ้าอาวาส เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย โดยในกรณีนี้ เจ้าอาวาสถือเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา และหากพบว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับการนำเงินวัดไปใช้ส่วนตัว ก็จะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน เมื่อเข้าเกณฑ์ความผิดมูลฐานแล้ว หน้าที่ของ ปปง. คือการตรวจสอบทรัพย์สินและดำเนินการอายัดหรือยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง โดย ปปง.ได้เข้าตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ บก.ปปป. และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ได้แก่ ทิดแย้ม และผู้มีความเกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ มีการตรวจพบธุรกรรมทางการเงินจำนวนมาก ซึ่งมีความผิดปกติ จึงนำหลักฐานดังกล่าวส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสืบสวนต่อ เพื่อหาว่าใครเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนี้บ้าง ขณะนี้ ปปง.ได้เริ่มขยายผลการตรวจสอบเป็น 3 วง ได้แก่ วงที่ 1 ผู้กระทำความผิดโดยตรง วงที่ 2 และ 3 ผู้ที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่งอาจครอบคลุมถึงบุคคลภายนอก หรือเครือข่ายที่รับผลประโยชน์
ภาพ ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช