กรุงเทพฯ 26 ส.ค.- ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ วิเคราะห์กรณีการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาในสื่อโซเชียลเกิดขึ้นในหลายประเทศ และกฎหมายมีความเข้มข้นมากกว่าในไทย ขณะที่การออกมาแถลงเฟซบุ๊ก เป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้งาน และจะไม่บานปลายถึงขั้นแบนหรือห้ามใช้บริการในประเทศ
“เฟซบุ๊ก” ถือเป็นแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจและจดทะเบียนบริษัทในไทยตั้งแต่ปี 58 ทุนจดทะเบียนกว่า 108 ล้านบาท และมีผู้ใช้งานในไทยกว่า 50 ล้านคน มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงเป็นตลาดผู้ใช้งานขนาดใหญ่ ทำให้ 3 ปีย้อนหลัง เฟซบุ๊กประเทศไทยมีรายได้รวมกว่า 700 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 30 ล้านบาท และจ่ายภาษีเงินได้กว่า 22 ล้านบาท
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระบุว่า การออกแถลงการณ์ของเฟซบุ๊ก ถึงกรณีที่รัฐบาลไทยขอให้ระงับการเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ถือเป็นการโต้แย้ง เพื่อปกป้องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้งาน แต่คงไม่ถึงขั้นฟ้องกลับ เพราะเฟซบุ๊กยังต้องทำธุรกิจภายใต้กฎหมายไทย ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎหมายประเทศนั้นๆ
กรณีจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในสื่อโซเชียล ยังเกิดขึ้นในหลายประเทศ และมีความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายมากกว่าไทย เช่น การออกกฎหมายใหม่ในเยอรมนี เพื่อควบคุมเนื้อหาที่แสดงความเกลียดชังบนอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ มีโทษสูงสุดปรับถึง 50 ล้านยูโร และต้องนำเนื้อหาที่ผิดกฎหมายออกภายใน 72 ชั่วโมง ขณะที่ในเวียดนามมีการลดดความเร็วของการใช้งานแฟลตฟอร์มออนไลน์ลง เพื่อใช้ต่อรองกับผู้ให้บริการ ดำเนินการลบข้อความที่เป็นภัยต่อความมั่นคงและโจมตีรัฐบาล
ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยังระบุด้วยว่า การจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาบางส่วนในสื่อโซเชียล จะไม่ปานปลายจนถึงขั้นห้ามหรือแบนการใช้งานเฟซบุ๊ก เพราะยังเป็นช่องทางหลักในการแสดงความคิดเห็นและเข้าถึงข้อมูลของคนในยุคปัจจุบัน ขณะที่ผู้ให้บริการก็ต้องยินยอมปฏิบัติตามคำร้องขอของรัฐ เพราะผลประโยชน์ด้านธุรกิจ.-สำนักข่าวไทย