กรุงเทพฯ 7 ส.ค. – สร้างความฮือฮา หลังจากที่โรงเรียนโพธิสารพิทยากร ย่านตลิ่งชัน ประกาศในปีการศึกษา 2563 นี้ ยกเลิกการรับนักเรียนชั้น ม.4 แบบสายวิทย์-สายศิลป์ โดยเปิด 7 แผนการเรียนใหม่ ให้นักเรียนได้เลือกเรียนในสายอาชีพที่อยากจะเป็น เช่น แผนการเรียนเตรียมแพทย์-เภสัช เตรียมวิศวะ-สถาปัตย์ ซึ่งมีกระแสตอบรับดี แต่บางคนก็มีข้อกังวล และทำไมจึงมีแนวคิดปรับเปลี่ยนเป็นแผนแบบใหม่นี้ ติดตามจากรายงาน
นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนโพธิสารพิทยากร เขตตลิ่งชัน คนนี้กำลังพาดูห้องเรียนใหม่สำหรับแผนการเรียนเตรียมนิเทศ-มนุษยศาสตร์ แผนการเรียนใหม่ของโรงเรียนที่ใช้แทนการเรียนสายศิลป์แบบปกติทั่วไป การมีทั้งห้องสตูดิโอ ห้องสำหรับเรียนรู้เบื้องต้นของการเรียนสายนิเทศศาสตร์ ยิ่งทำให้นักเรียนที่เลือกเรียนแผนนี้ตื่นเต้นไปกับอุปกรณ์ที่จะได้ทดลองใช้ เธอบอกว่า ตัดสินใจเลือกเรียนด้วยตัวเอง อนาคตอยากทำงานที่ใช้ทักษะด้านภาษาในการพูด
ผอ.โรงเรียนฯ ให้ข้อมูลว่า ปีการศึกษา 2563 เป็นปีแรกที่ยกเลิกการรับนักเรียนชั้น ม.4 แบบสายวิทย์ ศิลป์คำนวณ หรือศิลป์ภาษา และได้เปิด 7 แผนการเรียนใหม่ คือ แผนการเรียนเตรียมแพทย์-เภสัช, เตรียมวิศวะ-สถาปัตย์, เตรียมวิทย์-คอมฯ, เตรียมนิเทศ-มนุษย์, เตรียมศิลปกรรม, เตรียมบริหารธุรกิจ-บัญชี และเตรียมนิติ-รัฐศาสตร์ โดย ผอ.ใช้เวลาศึกษา มีงานวิจัยเรื่องนี้ที่ทำออกมาด้วยตนเอง ซึ่งที่นี่ไม่ใช่ที่แรก ก่อนหน้านี้ก็เคยมีหลายโรงเรียนเริ่มทดลองให้นักเรียนได้ศึกษาตามความถนัดในอาชีพมาก่อนแล้ว แต่ที่นี่ทำได้จริงจัง โดยศึกษาวิจัยอิงจากหลักสูตรการศึกษาเพื่ออาชีพของโรงเรียนในรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา
ในช่วงแรกของการปรับเปลี่ยนแผนการเรียนครั้งนี้ มีมุมมองจากผู้ปกครองที่เห็นด้วย แต่อีกด้านหนึ่งก็มีผู้ปกครองที่กังวลว่า อาจทำให้เด็กต้องตัดสินใจเร็วเกินไปหรือไม่ ผอ.ยืนยันว่า นักเรียนส่วนใหญ่ที่ต่อเข้า ม.4 เป็นนักเรียนเดิมของโรงเรียนที่มีการปูพื้นฐาน และมีระบบการประเมินติดตามเฉพาะของโรงเรียนมาแล้วว่า เด็กมีแนวโน้มจะเรียนต่อตามความถนัดในด้านใด แต่ในปีการศึกษานี้เป็นปีแรกที่เริ่มเรียนแผนใหม่ จึงเปิดโอกาสให้นักเรียนทดลองเรียนก่อน 1 เทอม หากพบว่าไม่ชอบจริงๆ ก็สามารถเปลี่ยนได้
ปัจจุบันโรงเรียนโพธิสารพิทยากร มีนักเรียนระดับชั้น ม.1-ม.6 ประมาณ 2,600 คน มีครูประจำกว่า 130 คน ในชั้น ม.ปลาย ที่มีการเลือกเรียนแผนต่างกัน ก็จะมีการจัดรูปแบบห้องเรียนต่างกันด้วย เช่น นี่คือห้องเรียนของแผนเตรียมนิติ-รัฐศาสตร์ สร้างห้องเรียนให้อยู่ในบรรยากาศคล้ายห้องพิจารณาคดี ซึ่ง ผอ.เชื่อว่า บรรยากาศเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเกิดการอยากเรียนรู้มากขึ้น นอกจากนี้ บทบาทของครูผู้สอนก็มีความสำคัญ ต้องมีการปรับตัวและพร้อมเรียนรู้อยู่เสมอ
นี่จึงนับเป็นแผนการเรียนแบบใหม่ที่ทำให้นักเรียนมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งความสำเร็จที่โรงเรียนมุ่งหวัง คือ ให้นักเรียนสอบติดในคณะที่ต้องการ ได้ประกอบอาชีพตามที่ฝันไว้ อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ต้องมาพร้อมกับความพร้อมของทั้งระบบด้วย ทั้งหลักสูตรและตัวบุคคล ซึ่งในการใช้แผนการเรียนใหม่นี้ จะมีระบบการประเมินผลที่อาจต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไปได้ด้วย. – สำนักข่าวไทย