กรุงเทพฯ 28 ก.ย. – จากเรื่องร้อนภายในองค์กรตำรวจสะเทือนวงการสื่อ น้ำใจจาก “บิ๊กโจ๊ก” ทำองค์กรสื่อปั่นป่วน หลังอ้างให้เงินค่าข้าว ค่าเดินทาง กับสื่อมวลชนบางราย ระบุเป็น “สินน้ำใจ ไม่ใช่สินบน” องค์กรวิชาชีพสื่อ “รับไม่ได้” เดินหน้าตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับแหล่งข่าว แค่ไหนถึงเรียกว่า “ล้ำเส้น” จริยธรรมวิชาชีพสื่อ
แม้ศึกชิงผู้นำสีกากีจะจบลงแล้ว เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ คือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือ “บิ๊กต่อ” แต่ Effect จากการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรตำรวจ ในสายตาประชาชนเป็นอย่างมาก
จากการเดินเกมงัดข้อ วัดพลัง เล่นวงใน ปล่อยหมัดฮุก จนเป็นข่าวใหญ่ครึกโครม กรณีตำรวจไซเบอร์บุกค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าปฏิบัติการครั้งนี้เกี่ยวข้องหรือไม่กับการแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ แต่นักวิชาการตำรวจก็ได้ให้ความเห็นไว้น่าสนใจว่า “มีนัยสำคัญอย่างเลี่ยงไม่ได้”
และดูเหมือน “บิ๊กโจ๊ก” จะไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปง่ายๆ เพราะได้ตั้งทนายฟ้องกราวรูดคดีตำรวจค้นบ้านพักแล้ว ถือเป็นการเดินเกมโต้กลับอย่างทันควัน แต่ใครจะคาดคิดว่าเรื่องนี้จะกระทบชิ่งทำองค์กรสื่อปั่นป่วนไปด้วย หลัง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกมาระบุว่ามีการให้เงินสื่อมวลชนบางรายครั้งละ 10,000 บาท เป็นค่าข้าว ค่าเดินทางไปทำข่าว รวมถึงเลี้ยงอาหารกลางวันนักข่าวที่มาทำข่าวที่สโมสรตำรวจ ตกเดือนละ 250,000 บาท ซึ่งยืนยันเป็นเงินส่วนตัว ถูกกฎหมาย ไม่ใช่เงินจากเว็บพนัน โดยให้เหตุผลว่าเป็นการอำนวยความสะดวกแก่คณะทำงาน เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ถือเป็น “สินน้ำใจ ไม่ใช่สินบน”
เรื่องนี้ร้อนถึงองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเรียกประชุมด่วน โดยนายสุปัน รักเชื้อ ประธานสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวกับกองบรรณาธิการข่าววิทยุ สำนักข่าวไทย (TNA Radio) ว่าทันทีที่ทราบเรื่องได้มีการเรียกประชุมด่วน ระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 7 องค์กร ประกอบด้วย
• สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
• สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
• สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
• สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
• สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
• สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย
• สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย
นายสุปัน มองว่า กรณีดังกล่าวยังเป็นเพียงการให้ข้อมูลจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เพียงฝ่ายเดียว ต้องให้เป็นธรรมกับสื่อที่ถูกกล่าวหา และองค์กรสื่อที่ผู้สื่อข่าวคนนั้นสังกัดอยู่ด้วย โดยทั้ง 7 องค์กรแสดงจุดยืนว่าสื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าว เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้ ดังนั้น จึงมีมติร่วมกันดังนี้
- เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชน
- ขอให้องค์กรต้นสังกัดที่ถูกระบุว่ามีนักข่าวรับเงิน รวมทั้งองค์กรสื่อมวลชนอื่นๆ ดำเนินการตรวจสอบว่านักข่าวในสังกัดมีพฤติกรรมตามที่ถูกระบุหรือไม่ และให้แจ้งผลการดำเนินการต่อสาธารณะทราบ ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีต้นสังกัด และกระทำการเป็นนักข่าวเพื่อส่งข่าวต่อไปยังสำนักข่าวต่างๆ แต่มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมวิชาชีพนั้น ขอให้ทุกองค์กรสื่อมวลชนพิจารณายุติการซื้อข่าวจากบุคคลหรือกลุ่มดังกล่าว 3.กรณีที่มีนักข่าวมีส่วนพัวพันหรือไปเกี่ยวข้องกับการรับเงินในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นโดยสภาวิชาชีพข้างต้น จะดำเนินการตรวจสอบด้านจริยธรรมวิชาชีพเช่นกัน ส่วนความผิดตามกฎหมายนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยจะใช้เวลาตรวจสอบ 1 เดือน
จากเหตุการณ์ครั้งนี้ สื่อมวลชนอาจถูกตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือและจริยธรรมวิชาชีพสื่อ เป็นสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อและคนทำงานสื่อสารมวลชนไม่อาจยอมรับได้ เพราะนั่นหมายถึง ได้ทำลายความเชื่อมั่นและความไว้วางใจของสาธารณชนที่มีต่อสื่อมวลชนไปด้วย ดังนั้น การรักษาความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งข่าวกับสื่อ จึงเหมือนมีเส้นบางๆ กั้นไว้ การอ้างว่าให้ด้วยความเห็นใจเป็นเพียง “สินน้ำใจ ไม่ใช่สินบน” แค่ไหนถึงเรียกว่า “ล้ำเส้น” จริยธรรมวิชาชีพสื่อ เรื่องนี้คือสิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อต้องคลี่ให้คลายสลายให้กระจ่าง.-สำนักข่าวไทย