สนทช.เตือนระวังน้ำล้นตลิ่งน้ำวัง-น้ำยม

เตือนน้ำล้นตลิ่ง

กรุงเทพฯ 24 ก.ย.- สทนช.ประกาศเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำวัง-แม่น้ำยม เนื่องจากเกิดฝนตกหนัก ด้าน “ดร.ธรณ์” ระบุภัยพิบัติจาก extreme weather เพิ่มขึ้น 4 เท่า เมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อน ที่ใด ๆ ที่เกิดผลกระทบในวันนี้ วันหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก ยากที่จะหนีรอด


สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำวัง ช่วงวันที่ 24 ก.ย.-3 ต.ค.67 เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำวัง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและชุมชนริมแม่น้ำวัง ขอให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ดังนี้ จ.ลำปาง ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.เถิน ประมาณ 0.2-0.5 ม. ในช่วงวันที่ 28 ก.ย.-2 ต.ค.67 จ.ตาก ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง บริเวณที่ลุ่มต่ำ อ.สามเงา ประมาณ 1.0-1.3 ม. ในช่วงวันที่ 24 ก.ย.-3 ต.ค.67

นอกจากนี้ ยังประกาศ เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังแม่น้ำยม ช่วงวันที่ 24-27 ก.ย. เนื่องจากเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำยม ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำและชุมชนริมแม่น้ำยม ขอให้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ดังนี้ จ.แพร่ ระดับน้ำมีแนวโน้มล้นตลิ่ง ตั้งแต่ อ.สอง อ.เมือง และ อ.วังชิ้น ประมาณ 1.50 – 2.00 ม. ในช่วงวันที่ 24-27 ก.ย.67 ทั้งนี้ ขอให้หน่วยงานเฝ้าระวัง ร่วมบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยาเคยเตือนตั้งแต่ ก.ค.67 ระบุประเทศไทยเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” ในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงพฤศจิกายน 2567- มกราคม 2568 โดยในเดือนกรกฎาคม, สิงหาคม และตุลาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนมากกว่าปกติ ส่วนภาคใต้จะมีฝนมากกว่าค่าปกติเล็กน้อย ยกเว้นช่วงเดือนสิงหาคม เพียงเดือนเดียว จึงมีปรากฏการณ์อยู่ ๆ ฝนก็ตกลงมาอย่างหนัก จนทำให้เกิดน้ำท่วมโดยฉับพลัน อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้แต่ในภูเก็ตเองก็ตาม

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า “Rain Bomb” ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน ใช้เรียก ฝนตกกระหน่ำอย่างไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนในช่วงเวลาสั้นๆ ทะลุขีดจำกัด ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน เนื่องจากน้ำจากฟ้าจำนวนมากถล่มลงมาอย่างรุนแรงในช่วงอันสั้น การรับมือแบบดั้งเดิม เช่น ประกาศเตือนให้ประชาชนนำรถขึ้นที่สูง หรือทำกระสอบทรายป้องกันน้ำ อาจไม่เร็วเพียงพอ รักษาชีวิต และทรัพย์สินได้ทันท่วงที

“Rain Bomb” อาจแฝงมาพร้อมพายุฝนฟ้าคะนอง จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในยุคโลกเดือด เพราะเมื่อมหาสมุทรร้อนจะทำให้น้ำระเหยมากขึ้น ส่งผลให้อากาศร้อนเพิ่มขึ้น เมื่อเมฆมีน้ำอยู่มากมายพร้อมทะลักทลายจากบนฟ้าในช่วงสั้นๆ หากตกลงบนเขาหรือในป่า อาจเกิดน้ำไหลหลากฉับพลันลงมา ขณะเดียวกัน หากตกในเมือง ถนนหนทางก็จะกลายเป็นทางน้ำ รวมถึงโคลนถล่มตามมาในพื้นที่ไม่เคยเกิด เช่น หายนะที่ลิเบีย และถ้าตกลงในเมืองที่ราบแบบกรุงเทพฯ น้ำท่วมเร็วมาก น้ำเข้าบ้านโดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง น้ำท่วมรถติดบนถนน ทำทรัพย์สินเสียหาย


ปี 2565 “ลานีญา” เข้ามามีบทบาทสำคัญ ถูกจารึกว่าเป็นปีลานีญาที่ “ร้อนที่สุด” ได้ผลักดันให้น้ำทะเลที่อุ่นกว่าเข้ามาทางตะวันออกของทวีปมากขึ้น ทำให้เกิดเมฆ และฝนเพิ่มมากขึ้น เมื่อรวมกับ “ภาวะโลกร้อน” ยิ่งทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้จะทราบดีว่าบรรยากาศสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้น 7% เมื่อเกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น แต่ฝนที่เกิดขึ้นอาจจะมากกว่า 7% เพราะเมื่อความชื้นควบแน่นเป็นหยาดฝน พลังงานจะถูกปล่อยออกมาในรูปของความร้อน ทำให้เกิดวงจรย้อนกลับในชั้นบรรยากาศ เกิดเป็นน้ำฝนที่อาจจะมากขึ้นได้ถึง 14%

ล่าสุด ดร.ธรณ์ โพสต์ว่า ในยุคที่โลกร้อนรุนแรงขึ้นเรื่อย ภัยพิบัติจาก extreme weather เพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 40 ปีก่อน ที่ใดๆ ที่เกิดผลกระทบในวันนี้ วันหน้าก็จะเกิดขึ้นอีก ยากที่จะหนีรอด มีแต่จะถี่ขึ้น แรงขึ้น จึงถึงเวลาที่เราต้องช่วยตัวเอง หลีกเลี่ยงการพาตัวเองเข้าไปอยู่อาศัย/ทำมาหากินในพื้นที่เสี่ยง นั่นคือคำตอบสำหรับคนที่ยังไม่ได้เข้าไป

สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงเรียบร้อยแล้ว ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยงรอบด้าน เสี่ยงต่อชีวิต เสี่ยงต่อทรัพย์สิน ทำอย่างไรในการรับมือ ในการหนีภัยในเวลาฉุกเฉิน หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก โดนแล้วโดนอีก และจะโดนมากขึ้น บางครั้งอาจต้องตัดสินใจในทางเลือกสุดท้าย = ถอยทัพ ในปัจจุบันจนไปถึงอนาคต มูลค่าที่ดิน,อสังหาริมทรัพย์ จะไม่ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เหมือนในอดีต ความเสี่ยงจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญ เพราะการลงทุนเพื่อป้องกันภัยพิบัติต้องใช้เงิน และจะมีแต่มากขึ้นและมากขึ้น ที่ดินที่เสี่ยงน้อยกว่าคือคุ้มค่ากับการลงทุนและการอยู่อาศัยในระยะยาว

“หากไม่ได้อยู่บ้านเดิมเกาะแม่กินเหมือนผม ไม่ได้มีเงินเหลือมากมาย ต้องกู้มาเพื่อผ่อนบ้านเป็นสิบๆ ปี บางทีเช่าอาจได้เปรียบกว่าซื้อ หากเข้าใกล้วัยเกษียณ ฝันอยากหนีจากเมืองใหญ่ ไปอยู่ในชนบทแสนสบายอากาศดีมีความสุขจงแน่ใจว่าสถานที่คุณไปจะมีความสุขแน่ ไม่ใช่ไปเป็นผู้ประสบภัยในต่างจังหวัดที่ไหนสบายไปอยู่ที่นั่น เช่าระยะสั้น ย้ายไปเรื่อยๆ อาจเป็นทางออกของยุคปัจจุบันเก็บตังค์ไว้กับตัว ลดทรัพย์สินพะรุงพะรัง การกู้หนี้ยืมสินในระยะยาว ลงทุนเล่นหุ้นอย่างรอบคอบ ศึกษาเรื่องความเสี่ยงจากภัยพิบัติจริงจัง” ดร.ธรณ์ ระบุ. -511-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

เกาะติดทุกโหมดการเดินทางเทศกาลปีใหม่ 2568

เกาะติดทุกโหมดการเดินทางขาออกเทศกาลปีใหม่ 2568 ถนนทุกสาย และระบบขนส่งสาธารณะทุกโหมด มีประชาชนทะลักเดินทางตั้งแต่เย็นวานนี้ (27 ธ.ค.) ภาพรวมเป็นอย่างไร พูดคุยกับนายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม.

หยุดยาววันแรก การจราจรขาออก กทม. มุ่งสู่อีสานเริ่มแน่น

เริ่มหยุดยาววันแรก การจราจรบนท้องถนนขาออกกรุงเทพฯ มุ่งสู่อีสานเริ่มแน่นตั้งแต่เมื่อคืน เช้านี้ ถนนมิตรภาพ ช่วง ต.กลางดง อ.ปากช่อง ชะลอเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ ส่วนถนนพหลโยธิน ขาเข้าหนองแค รถเริ่มแน่น