กรุงเทพฯ 4 ก.ย. – กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาแตะ 1,500 ลบ.ม./วินาที เตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง ระยะนี้จะยังคงใช้เขื่อนเจ้าพระยาหน่วงน้ำไว้ให้นานที่สุด โดยติดตามฝนที่จะตกเพิ่มจากพายุโซนร้อนกำลังแรง (YAGI) “ยางิ” หากตกในพื้นที่ภาคกลาง อาจต้องขอคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปรับเพิ่มการระบายน้ำอีก
นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า เช้าวันนี้ (4 ก.ย.) แนวโน้มน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ทรงตัว โดยเช้าที่ผ่านมาวัดปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ได้ในอัตรา 1,529 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 1,551 ลบ.ม./วินาที แต่เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนว่า ระยะนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง อีกทั้งต้องเฝ้าระวังฝนที่จะตกเพิ่มตั้งแต่วันที่ 8 -13 ก.ย. จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนกำลังแรง “ยางิ” ซึ่งแม้คาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำที่ประเทศลาวตอนบน แต่จะส่งผลให้เกิดร่องมรสุมพาดผ่านและมีฝนตกเพิ่ม ดังนั้นจึงต้องเร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเล
ที่เขื่อนเจ้าพระยาจึงปรับเพิ่มการระบายน้ำจาก 1,449 ลบ.ม./วินาที เป็น 1,490 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นจากเดิม 18 เซนติเมตร แจ้งเตือนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา/แม่น้ำน้อย และพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ให้ขนย้ายของยกขึ้นที่สูงเพื่อป้องกันความเสียและเฝ้าระวังระดับน้ำอย่างใกล้ชิด
กรมชลประทานได้ผันน้ำที่ไหลมาถึงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออกเพิ่มขึ้นในปริมาณที่ไม่ส่งกระทบต่อพื้นที่เกษตรที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว แล้วหน่วงน้ำไว้ที่เขื่อนเจ้าพระยาให้มากที่สุด แต่หากปริมาณน้ำทางตอนบนไหลลงมาเพิ่มและมีฝนตกในพื้นที่ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ อาจจำเป็นอาจปรับเพิ่มการระบายน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาเกินกว่าอัตรา 1,500 ลบ.ม./วินาที โดยกรมชลประทานจะต้องขออนุญาตคณะอนุกรรมการอ่านวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำล่วงหน้า 3 วัน ก่อนการระบายน้ำ
นายธเนศร์ กล่าวว่า ในเดือนกันยายน-ตุลาคม ซึ่งจะมีฝนตกชุก กรมชลประทานยังมีพื้นที่รองรับน้ำในทุ่งลุ่มต่ำ 11 ทุ่งลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งจะต้องให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้วเสร็จซึ่งจะช่วยตัดยอดน้ำหลากได้. – 512 -สำนักข่าวไทย