ระยอง 16 พ.ค. – กรมทรัพยาการน้ำบาดาลเร่งตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีในชั้นน้ำใต้ดินบริเวณโรงเก็บกากอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตรายของบริษัทวินโพรเสส จ. ระยอง เบื้องต้นพบชั้นทราบที่เปียกและมีกลิ่นฉุน เร่งเก็บตัวอย่างน้ำเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อแจ้งข้อมูลต่อประชาชนโดยเร็ว
นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเปิดเผยว่า มอบหมายให้สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรน้ำบาดาลส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนน้ำใต้ดินบริเวณบริษัท วินโพรเสส จำกัด ต.บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยองซึ่งประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะ คืนสภาพกรดหรือด่าง ทำเชื้อเพลิงผสม ล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย และมีใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายประเภทน้ำมัน โดยโรงเก็บกากอุตสาหกรรมและสารเคมีอันตรายของวินโพรเสสเกิดเหตุเพลิงไหม้ ทำให้ชาวบ้านในตำบลบางบุตรและใกล้เคียงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากกลิ่นฉุนรุนแรงของสารเคมีอันตราย มีผลกระทบทางด้านความเป็นอยู่และสุขภาพ เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ มีอาการแสบตา แสบจมูก เกิดอาการอักเสบ ตามผิวหนัง และยังไม่ทราบอาการที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงจะเร่งตรวจสอบชั้นน้ำใต้ดินตามข้อสั่งการของพล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งห่วงใยประชาชนในพื้นที่ที่ต้องใช้น้ำบาดาล
สำหรับผลการเจาะสำรวจ จากหลุมเจาะ 5 หลุม พบว่า พื้นที่ดังกล่าว ประกอบด้วยชั้นบนสุดเป็นทรายละเอียด ความหนาประมาณ 2-3 เมตร ชั้นต่อไปรองรับด้วย ชั้นทรายหยาบปนกรวด ความหนาประมาณ 1-2 เมตร และถัดมารองรับด้วยชั้นทรายหยาบปนดินเหนียว ความหนาประมาณ 5-6 เมตร บางช่วงความลึกพบชั้นทรายหยาบ ความหนาประมาณ 0.5 -1 เมตร มีลักษณะเปียกและมีกลิ่นฉุน ตั้งแต่ความลึกประมาณ 10 เมตร พบชั้นหินผุ เกิดจากการผุพังของหินแกรนิตซึ่งเป็นชั้นหินฐาน นอกจากนี้พบน้ำบาดาลระดับตื้นในช่วงความลึกความลึกประมาณ 4-10 เมตร โดยคุณภาพน้ำใต้ดินในเบื้องต้น จากหลุมเจาะที่วัดในภาคสนาม มีค่า pH อยู่ในช่วง 2.02-4.45 ค่าการนำไฟฟ้า (EC) อยู่ในช่วง 6,100 – 17,300 ไมโครซีเมนส์ต่อเซนติเมตร ในขั้นต่อไป จะเจาะสำรวจเพิ่มเติมอีก 5 จุด สำรวจบ่อน้ำตื้นของชาวบ้านเพื่อเก็บตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์คุณภาพน้ำในห้องปฏิบัติการเพื่อประเมินขอบเขตการปนเปื้อน
ในระยะนี้อาจมีอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่เนื่องจากในบางช่วงที่มีฝนตก ทำให้เกิดไอหมอกสารเคมีปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ส่งผลให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก. 512 – สำนักข่าวไทย