กรุงเทพฯ 26 เม.ย. – กรมควบคุมมลพิษเตือนโรงน้ำแข็งทุกแห่งระวังแอมโมเนียซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นรั่วไหล พร้อมแนะวิธีการจัดการเมื่อแอมโมเนียรั่วไหลเพื่อป้องกันอันตรายจากการสัมผัส กรณีได้รับในความเข้มข้นสูง อาจเกิดความเป็นพิษเฉียบพลัน
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แจ้งเตือนโรงงานน้ำแข็งทุกแห่งให้เฝ้าระวังและป้องกันการรั่วไหลของแอมโมเนียที่ใช้เป็นสารทำความเย็น ในช่วงฤดูร้อน ความต้องการใช้น้ำแข็งเพิ่มขึ้น อาจเกิดการชำรุดของอุปกรณ์ทำความเย็นและเกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย
แอมโมเนีย (Ammonia) เป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว สามารถละลายน้ำและระเหยได้ ติดไฟได้ มีฤทธิ์เป็นด่าง แอมโมเนียถูกใช้เป็นสารทำความเย็นในโรงงานน้ำแข็งและห้องเย็น เนื่องจากราคาถูก ขนส่งและใช้งานง่าย ค่าใช้จ่ายในการจัดการถูกกว่าสารทำความเย็นชนิดอื่น ไม่ทำลายโอโซนในชั้นบบรรยากาศ ไม่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
การรั่วไหลของแอมโมเนียเกิดจากความบกพร่อง ชำรุดของอุปกรณ์เช่น รอยรั่วของท่อส่งก๊าซ วาล์ว หรือเกิดระหว่างการบำรุงรักษาระบบเนื่องจากแอมโมเนียสามารถรวมตัวกับน้ำและความชื้น เกิดเป็นแอมโมเนียมไฮดรอกไซด์ (Ammonium hydroxide) ซึ่งมีความเป็นด่างสูง สามารถกัดกร่อนระบบ ทำให้เกิดรอยรั่ว หรือจากการจัดเก็บภาชนะบรรจุแอมโมเนียไม่เหมาะสม ทำให้เกิดการรั่วไหล
เมื่อเกิดการรั่วไหล ต้องป้องกันบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากบริเวณ เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากการสัมผัสแอมโมเนีย ใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเป็นฝอยเพื่อจับไอของแอมโมเนีย มีการตรวจวัดความเข้มข้นของแอมโมเนียทั้งบริเวณที่มีการรั่วไหลและบริเวณรอบข้าง ป้องกันไม่ให้แอมโมเนียในรูปของเหลวหรือน้ำเสียที่เกิดจากการระงับเหตุลงสู่แหล่งน้ำ และมีระบบในการจัดการน้ำเสียที่ปนเปื้อนแอมโมเนีย หลังจากนั้น ให้ตรวจสอบระบบที่มีการรั่วไหลของแอมโมเนียเช่น สภาพของท่อส่งก๊าซและวาล์ว พร้อมทั้งดำเนินการแก้ไข และต้องมีการจัดทำแผนการใช้งานและซ่อมบำรุงเครื่องจักร แผนระงับเหตุฉุกเฉิน ระบบการควบคุมและการบำบัดมลพิษ
ผลกระทบต่อสุขภาพของแอมโมเนีย จะเป็นความเป็นพิษเฉียบพลันจากการสูดดมแอมโมเนียในความเข้มข้นสูง ทำให้เกิดอาการตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง การตอบสนองลดลง และไม่รู้สึกตัว เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ การบวมของลิ่นไก่ กล่องเสียง และหลอดลม หายใจติดขัด แน่นหน้าอก และหมดสติ รวมถึงเกิดการระคายเคืองบริเวณดวงตา ตาพร่า และอาจสูญเสียการมองเห็น การสัมผัสแอมโมเนียในสถานะของเหลวโดยตรง ทำให้ผิวหนังถูกกัดจากความเย็น (frostbite injury)
ดังนั้นขอให้ผู้ประกอบการหมั่นตรวจสอบความบกพร่อง การชำรุดของอุปกรณ์ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของแอมโมเนีย หน่วยงานท้องถิ่นต้องหมั่นตรวจโรงงานและซ้อมแผนระงับเหตุฉุกเฉิน เพื่อป้องกันอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน. 512 – สำนักข่าวไทย