นครปฐม 26 ม.ค. – อธิบดีกรมอุทยานฯ เผยเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบฟาร์มในจังหวัดนครปฐม หลังปรากฏสิงโตของฟาร์มแห่งนี้ ประกอบฉากในวิดีโอของดีเจภูมิ พบได้เป็นการนำไปจัดแสดงตามวัน เวลา และสถานที่ในคำขออนุญาตระหว่างวันที่ 24-26 ม.ค. 67 ย้ำการนำออกมาในที่สาธารณะ หรือปล่อยเป็นอิสระ มีโทษหนักทั้งจำคุกและปรับ เจอผู้ฝ่าฝืน แจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายมานะ เพิ่มพูล ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) (สบอ. 3) ซึ่งเข้าตรวจสอบฟาร์มชื่อ กระป๋องสีฟาร์มซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม จากการตรวจสอบเบื้องต้นว่า สิงโตของฟาร์มแห่งนี้ เป็นตัวเดียวกับที่ปรากฏในวิดีโอของนายภูมิใจ ตั้งสง่าหรือดีเจภูมิ โดยเป็นภาพที่ดีเจภูมิกำลังเล่นกับลูกสิงโตตัวหนึ่ง เผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย
จากการตรวจสอบข้อมูลจากสารบบเอกสารสำนักงาน พบว่า สิงโตเป็นของนายกิตตน์ เตชะนิโลบล (กระป๋องสีฟาร์ม) แจ้งครอบครอง (เกิด) ไว้วันที่ 8 มกราคม 2567 มีหมายเลขไมโครชิปหมายเลข 900219001878569 โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ผู้ครอบครองยื่นเอกสารขอเคลื่อนย้ายสิงโตตัวนี้เพื่อไปจัดแสดงเป็นการชั่วคราวในวันที่ 24-26 มกราคม 2567 ณ บริษัท คนหัวครัว จำกัด เลขที่ 28 ซอยพิบูลย์วัฒนา 7 ถนนพระราม6 แขวงพญาไท เขตพญาไท กรุงเทพฯ โดยผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สบอ.3 (บ้านโป่ง) พิจารณาอนุญาตให้นำไปจัดแสดง ตามวัน เวลา และสถานที่ในคำขออนุญาตได้
ในการเข้าตรวจสอบวันนี้ (26 มกราคม 2567) เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบในบริเวณสถานที่ที่แจ้งครอบครอง (กระป๋องสีไลอ้อนซู) พบว่า สิงโตตัวดังกล่าว ได้นำกลับมาแล้ว โดยตรวจสอบหมายเลขไมโครชิพ ปรากฏหมายเลข ตรงกัน คณะเจ้าหน้าที่จึงแจ้งกำชับให้ผู้ครอบครองสัตว์ป่าควบคุมรายนี้ ทราบว่า การโอนย้าย เปลี่ยนแปลงต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทราบทุกครั้ง
นายอรรถพลกล่าวว่า จากเหตุการณ์มีบุคคลนำสิงโตออกมานั่งรถเล่น พาจูงเดินไปตามสถานที่สาธารณะ หรือการครอบครองกรณีต่างๆ ขอแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องให้ทราบว่า สิงโต (Panthera leo) เป็นสัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก คือ สัตว์ป่าควบคุมที่ต้องมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด ซึ่งสัตว์ป่าควบคุม ชนิด ก มี 10 ชนิดได้แก่ สิงโต เสือชีต้า เสือจาร์กัว กอริลล่าภูเขา กอริลล่า ชิมแพนซีธรรมดา โบโนโบ้ อุรังอุตังสุมาตรา อุรังอุตังบอร์เนียว งูอนาคอนดาเขียว
สัตว์เหล่านี้ล้วนต้องมีการจดแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าควบคุม การดูแลและจัดสวัสดิภาพให้ดี เช่น ต้องจัดสถานที่ครอบครองให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันสัตว์ป่าควบคุมหลุดไปทำร้ายผู้อื่น ต้องจัดทำป้ายเตือนอย่างชัดเจน การเคลื่อนย้ายต้องจัดระบบอย่างเหมาะสมปลอดภัยต่อสัตว์ป่าควบคุม และไม่ให้เกิดอันตรายต่อผู้อื่น หรือกรณีสัตว์ป่าควบคุมชนิด ก หลุดออกจากสถานที่ครอบครองให้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 มีบทกำหนดโทษเกี่ยวกับการปล่อยหรือทอดทิ้ง “สัตว์ป่าควบคุม” มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 91 ฝ่าฝืนตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง โดยการทิ้งหรือปล่อยเป็นอิสระ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ประเภทแจ้งครอบครอง ตามมาตรา 90 หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ซึ่งชนิด/ซาก ที่ประกาศกำหนดต้องแจ้งการครอบครอง หากฝ่าฝืนมีจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 91 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบออกตามความนัยมาตรา 19 วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการครอบครองสัตว์ป่าควบคุม จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 อย่างเคร่งครัด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนจัดการสัตว์ป่าต่างประเทศ กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (CITES) 02-5610777 ต่อ 2912 หรือหากพบเห็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย สัตว์ป่าบาดเจ็บ พลัดหลง สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง.- 512 – สำนักข่าวไทย