กรุงเทพฯ 3 มี.ค.–ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำชับศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือให้เร่งลดจุดความร้อนเพื่อลดการสะสมของฝุ่น PM2.5 ย้ำกรมควบคุมมลพิษดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างเข้มงวดทุกพื้นที่ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนล่าสุดตรวจวัดฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานถึง 26 จังหวัดและต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องถึง 10 มี.ค.
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในพื้นที่ภาคเหนืออย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการลดจุดความร้อน (Hotspot) นำเทคโนโลยีและอากาศยานมาช่วยเสริมภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่ทำให้ปฏิบัติการได้รวดเร็ว รวมทั้งเตรียมพร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือ และกำลังพลเข้าควบคุมและดับไฟป่าอย่างทันท่วงที เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
พร้อมกันนี้สั่งกรมควบคุมมลพิษดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 อย่างเข้มงวดทุกพื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่เมือง พื้นที่ป่า และพื้นที่เกษตรกรรม ล่าสุดมอบหมายให้นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษแจ้งไปยังจังหวัดที่มีไฟไหม้ซ้ำซากในพื้นที่ปลูกอ้อย เพื่อให้ทางจังหวัดยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา PM2.5 จากอ้อยไฟไหม้อย่างเข้มงวด ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ตรวจพบพื้นที่ปลูกอ้อยที่มีไฟไหม้ซ้ำซากยังคงมีอยู่ในบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชัยภูมิกับนครราชสีมาและบริเวณรอยต่อจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม
ทั้งนี้คาดการณ์ว่า ในปีนี้ผลผลิตอ้อยทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้น มีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยประมาณ 12 ล้านไร่ และมีจำนวนอ้อยเข้าหีบจำนวนประมาณ 74 ล้านตัน ประมาณการว่า จะมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในสัดส่วนร้อยละ 30 ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2564-2566 พบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกอ้อย ประมาณร้อยละ 3-4 ของพื้นที่เพาะปลูกอ้อยทั้งหมดทั่วประเทศ ทำให้การดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ยังไม่เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ซึ่งกำหนดให้ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5 และในฤดูการผลิตปี 2566/2567 ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบต้องเป็น 0 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
นอกจากนี้ขอความร่วมมือประชาชนร่วมกันหยุดการเผาในที่โล่งเพื่อลดปริมาณฝุ่น PM2.5 โดยในช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี จะเกิดปัญหา PM2.5 ในหลายพื้นที่ของประเทศและบางพื้นที่สะสมมากจนอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ รายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศประจำวันที่ 3 มีนาคม 2566 ณ07:00 น. พบเกินค่ามาตรฐานใน 26 จังหวัดได้แก่ จ.ปทุมธานี จ.นนทบุรีกรุงเทพฯ จ.สมุทรสาคร จ.เชียงรายจ.เชียงใหม่ จ.น่าน จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.อุตรดิตถ์ จ.สุโขทัย จ.ตาก จ.พิษณุโลกจ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ จ.อุทัยธานี จ.ราชบุรี จ.สมุทรสงคราม จ.ประจวบคีรีขันธ์ จ.ตราดและจ. เลย
สำหรับผลการตรวจวัดตามรายภาค มีดังนี้
– ภาคเหนือ เกินค่ามาตรฐานเป็นส่วนใหญ่ ตรวจวัดได้ 56 – 178 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 26 – 64 มคก./ลบ.ม.
– ภาคกลางและตะวันตก เกินค่ามาตรฐาน 3 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 34 – 79 มคก./ลบ.ม.
– ภาคตะวันออก เกินค่ามาตรฐาน 1 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 37 – 51 มคก./ลบ.ม.
– ภาคใต้ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 10 – 26 มคก./ลบ.ม.
– กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยสถานีตรวจวัดของ คพ. ร่วมกับ กทม. เกินค่ามาตรฐาน 19 พื้นที่ ตรวจวัดได้ 32 – 74 มคก./ลบ.ม.
ส่วนผลคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กตั้งแต่วันที่ 4-10 มีนาคมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงทั้งภาคเหนือตอนบนและล่าง ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงได้ในบางพื้นที่
ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น ถ้ามีอาการทางสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามสถานการณ์ผ่านทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และairbkk.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK.-สำนักข่าวไทย