เชียงใหม่ 24 ส.ค. – รมว.วราวุธ” ขอบคุณรัฐมนตรีป่าไม้เอเปคที่ร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 จนสำเร็จลุล่วง โดยจะร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือเพื่อยกระดับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้เพิ่มขึ้น พร้อมเสนอให้นำหลัก BCG Economy Model ไปสนับสนุนแนวทางการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 หรือ The Fifth APEC Meeting of Ministers Responsible for Forestry: MMRF5 ซึ่งประเทศไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2565 ร่วมกับ 21 เขตเศรษฐกิจ ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่
นายวราวุธกล่าวขอบคุณรัฐมนตรีป่าไม้เอเปคและผู้แทนจากทุกเขตเศรษฐกิจที่ได้ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันมาอย่างสร้างสรรค์ จนการประชุมประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือ และยกระดับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้เพิ่มขึ้น รวมถึงส่งเสริมการค้าผลิตภัณฑ์ไม้ตามแนวทางและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการประชุม MMRF5 เป็นการประชุมที่มุ่งสู่เป้าหมายด้านการป่าไม้อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect. Balance.)
ทั้งนี้ประเทศไทยได้นำเสนอให้เขตเศรษฐกิจพิจารณานำหลัก BCG Economy Model ไปสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบการทำงานของเอเปค เพื่อเป็นแนวทางที่จะนำไปสู่การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ สร้างมูลค่า และส่งเสริมรูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน โดยมีทรัพยากรป่าไม้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม สร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจและประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ทำให้สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า ที่ประชุมร่วมกันพิจารณาถึง “ร่าง ถ้อยแถลงเชียงใหม่” อันจะเป็นการนำไปสู่การแสวงหาแนวทางความร่วมมือต่อไป หลังจากที่สามารถร่วมกันบรรลุการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในภูมิภาคได้เกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ. 2020
สำหรับการประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ เป็นการประชุมระดับรัฐมนตรี 1 ใน 9 เรื่อง ที่มีการจัดประชุมขึ้นก่อนการจัดประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นเวทีให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ของเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น แสวงหาโอกาสและแนวทางความร่วมมือในการใช้ภาคการป่าไม้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การค้าของภูมิภาค ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมโลกผ่านกระบวนการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และถูกต้องตามกฎหมายในระดับท้องถิ่นของสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคและในระดับนานาชาติที่สมาชิกฯ ร่วมเป็นภาคี
ทั้งนี้ประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ฉลองความสำเร็จของสมาชิกเอเปคในการร่วมกันดำเนินงานจนสามารถบรรลุตามเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของภูมิภาคเกินกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ได้ถึง 174.38 ล้านไร่ หรือ 27.9 ล้านเฮกตาร์ ภายในปี พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) จากที่กำหนดไว้ 125 ล้านไร่ หรือ 20 ล้านเฮกตาร์ ในการร่วมกันพิจารณาถึง “ร่าง ถ้อยแถลงเชียงใหม่” นั้น ประเทศไทยพยายามให้ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นร่วมกันว่า ป่าไม้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทุกเขตเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบนี้ร่วมกันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้.-สำนักข่าวไทย