กรุงเทพฯ 21 มิ.ย. – “ทนายรณณรงค์” พาแม่เด็กออทิสติก วัย 8 ขวบ เข้าแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของศูนย์รับเลี้ยงกระตุ้นพัฒนาการเด็กใน จ.สมุทรปราการ หลับอ้างพบลูกสาวถูกทารุณกรรมระหว่างฝากเลี้ยงที่ศูนย์ฯ
ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม พานางเอ (นามสมมติ) แม่เด็กออทิสติก วัย 8 ขวบ เดินทางเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าของศูนย์รับเลี้ยงกระตุ้นพัฒนาการเด็กในจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นแพทย์จิตเวชโรงพยาบาลรัฐชื่อดังย่านปทุมวันและครูผู้ดูแลรวม 3 คน หลังอ้างพบว่าลูกสาววัย 8 ขวบ ซึ่งเป็นเด็กออทิสติก ถูกทารุณกรรมระหว่างการฝากเลี้ยงอยู่ที่ศูนย์ฯ ดังกล่าว
โดยแม่เด็ก เล่าว่าเมื่อช่วงเดือนกันยายนปี 63 ได้นำลูกสาวไปฝากเลี้ยงและกระตุ้นพัฒนาการที่ศูนย์ดังกล่าว ซึ่งช่วงแรกไม่พบความผิดปกติ จนกระทั่งช่วงต้นเดือน ม.ค.64 ที่มีการห้ามเข้าเยี่ยมเนื่องจากสถานการณ์โควิด โดยจะเข้าเยี่ยมได้ต้องมีการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ทำให้ตนเองไม่สามารถเข้าเยี่ยมลูกได้ จนกระทั่งวันที่ 27 เม.ย. ได้ไปรับลูกเพื่อที่จะกลับต่างจังหวัด โดยครูที่ศูนย์ดังกล่าวแจ้งว่าลูกของตนมีแผลที่ข้อเท้าเนื่องจากการแพ้ถุงทรายถ่วงน้ำหนัก ที่ลูกสาวต้องใส่เนื่องจากเป็นเด็กเดินเขย่ง แต่เมื่อถึงบ้านที่ต่างจังหวัดตนได้ตรวจสอบแผลอย่างละเอียดอีกครั้งจนพบว่า ลูกของตนนั้นมีแผลที่ข้อเท้าข้างเดียว ทั้งที่ใส่ถุงทรายถ่วงน้ำหนักสองข้าง และเมื่อพาไปอาบน้ำก็พบว่าลูกยังมีแผลตามร่างกายอีกหลายจุด รวมถึงที่ก้นและบริเวณอวัยวะเพศ ลักษณะเป็นแผลติดเชื้อ เมื่อสอบถามไปทางครูผู้ดูแล ก็อ้างว่าไม่เคยเห็นและไม่เคยเปิดดูบริเวณก้นเด็ก ซึ่งคาดว่าอาจเป็นการแพ้ผ้าอ้อม แต่ส่วนตัวมองว่าลูกของตนดูแลตนเองไม่ได้ ดังนั้นผู้ดูแลควรที่จะเห็น หากไม่เห็นก็แสดงว่าไม่ได้ดูแลความสะอาดให้ลูกของตนเลย ซึ่งเมื่อพาลูกไปหาหมอ หมอก็สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากความไม่สะอาดของผ้าอ้อม
หลังจากเกิดเหตุ ลูกของตนมีความหวาดกลัวหวาดระแวง ไม่พูดไม่ส่งเสียง มีอาการหวาดกลัวและซึม น้ำหนักลดลง ซึ่งครูอ้างว่าลูกไม่กินข้าวทั้งที่เป็นเด็กกินเก่ง เมื่อตัวเองตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดี ทางเจ้าของก็มีการติดต่อมาขอไกล่เกลี่ย และชดใช้ค่าเสียหายให้ตามที่แม่เรียกร้อง พร้อมยอมรับว่ามีการผูกล่ามข้อเท้าลูกของตนจริง ๆ เนื่องจากลูกนั้นอยู่ไม่นิ่งและครูต้องดูแลเด็กคนอื่น แต่ตนเองไม่ยอมรับเงื่อนไขและยืนยันจะดำเนินคดีเพราะรู้สึกเสียใจกับการกระทำดังกล่าวของผู้ดูแล อีกทั้งค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระให้กับทางศูนย์ตกเดือนละกว่า 20,000 บาท ยังไม่รวมค่าผ้าอ้อมและยา หากรวมทั้งหมดน่าจะมากกว่า 300,000 บาท แต่ลูกกลับถูกทารุณกรรมเช่นนี้
ทนายรณณรงค์ เปิดเผยว่าเบื้องต้นจะให้ตำรวจดำเนินคดีข้อหาทำร้ายร่างกายโดยการทารุณกรรม และแสวงหากำไรจากเด็ก ซึ่งหลังแม่เด็กแจ้งความกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตรวจสอบศูนย์ดังกล่าว จนศูนย์สั่งปิดชั่วคราว แต่หลังจากนั้นตำรวจก็ไม่สามารถสอบปากคำผู้ปกครองของเด็กที่เหลือในศูนย์อีก 10 คนได้ เพราะผู้ปกครองของเด็กคนอื่น ๆ ไม่ติดใจเอาความ ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีเด็กถูกทารุณหลายคนแต่ทางศูนย์ฯ พยายามจ่ายเงินเพื่อปิดปาก. -สำนักข่าวไทย