กทม. 13 ส.ค.- ปคบ.- อย. จับลอบจำหน่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และชุดตรวจ ATK ผิดกฎหมาย มูลค่ากว่า 3 ล้านบาท เตือนอย่าซื้อยากินเอง ระวังได้ยาที่ไม่มีตัวยาอยู่ด้านใน
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. พร้อม พ.ต.อ.เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. และ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงปฏิบัติเข้าจับกุมผู้ต้องหาลักลอบขายยาฟาวิพิราเวียร์ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรชื่อดัง และชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 หรือ ATK โดยไม่ได้รับอนุญาต มูลค่าของกลางกว่า 3,000,000 บาท เหตุเกิดในพื้นที่เขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร หลังสืบทราบว่า ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวถูกส่งมาจาก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว จึงรวบรวมพยานหลักฐาน และนำหมายค้นของศาลเข้าตรวจค้นรีสอร์ท ในพื้นที่ ต.บ้านใหม่หนองไทร ซึ่งใช้เป็นสถานที่เก็บผลิตภัณฑ์ยาฟาวิพิราเวียร์, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 พร้อมจับกุมตัว น.ส. ยุวดี (สงวนนามสกุล) ซึ่งรับว่าเป็นเจ้าของ และยึดของกลาง ยาฟาวิพิราเวียร์ จำนวน 2,000 เม็ด, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร 38,400 แคปซูล และชุดตรวจหาเชื้อโควิด 19 จำนวน 6,600 ชุด นำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายและสืบสวนขยายผลหาตัวผู้ร่วมขบวนการ
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รักษาราชการแทน รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ย้ำเตือนประชาชนอย่าซื้อยามารับประทานเองเพราะอาจได้ยาปลอมที่ไม่มีตัวยาสำคัญอยู่เลย หรือได้รับยาที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานทำให้เสียโอกาสในการรักษา และอาจได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อน รวมถึงการซื้อยาผ่านอินเตอร์เน็ตผู้ป่วยอาจไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 และเข้ารับการรักษาในระบบที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยาฟาวิพิราเวียร์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ที่ต้องสั่งจ่ายและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น โดยจำเป็นต้องติดตามอาการข้างเคียงและผลการรักษาระหว่างการใช้ยา และการใช้ยาในผู้ป่วยบางกลุ่มจะต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสี่ยงจากผลข้างเคียงของการใช้ยาโดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำแนะนำ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ง่าย ส่งผลให้ใช้ยาไม่ได้ผลเมื่อเกิดการติดเชื้อเป็นเหตุให้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ในที่สุด
ส่วนกรณีชุดตรวจโควิดด้วยตนเองจะต้องซื้อจากร้านขายยาแผนปัจจุบัน ไม่ควรหาซื้อชุดตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเองผ่านทางสื่อออนไลน์หรือแหล่งอื่น ๆ เพราะเภสัชกรจะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการใช้ชุดตรวจ ทั้งวิธีการใช้ วิธีการเก็บตัวอย่าง วิธีการแปลผล ข้อปฏิบัติตัวหลังทราบผลการตรวจ และการทิ้งชุดตรวจที่ใช้แล้วอย่างเหมาะสม เนื่องจากเป็นขยะปนเปื้อนหรือขยะติดเชื้อ เพื่อป้องกันการได้รับผลิตภัณฑ์เถื่อน ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน เสี่ยงต่อการนำไปใช้และแปลผลผิดพลาด และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th.-สำนักข่าวไทย