กทม.20ต.ค.- หลายคน โร่พึ่งศาลแพ่ง รัชดาฯ ฟ้องนายกฯและให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
นายเกษม ศุภสิทธิ์ อดีตผู้พิพากษา และนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มาศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เพื่อยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพลตำรวจเอกสุวัฒน์ เเจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ ในความผิดฐาน ละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เเละให้เพิกถอน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในสถานการณ์ร้ายเเรงโดยมิชอบที่ออกประกาศวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา
นายเกษม ระบุว่า ประกาศดังกล่าวออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะคำนิยามสถานการณ์ฉุกเฉินระบุได้ว่า จะประกาศได้ก็ต่อเมื่อส่งผลต่อความมั่นคงต่อรัฐ มีเหตุร้ายเเรง เเต่กรณีที่เกิดขึ้นเป็นนักศึกษา นักเรียนเเละประชาชนชุมนุมด้วยความสงบ ไม่มีอาวุธและใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยยกเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่เเยกปทุมวัน เพื่อให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในทันที ศาลกำลังพิจารณาว่าจะมีคำสั่งไต่สวนฉุกเฉินเพื่อคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่
เช่นเดียวกับนายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว, นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายนรินทร์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย มาศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก เพื่อยื่นฟ้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมองว่าการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา 4, 5, 9 และ11 ของ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จึงขอให้ศาลเพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ข้อกำหนดและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราวผู้ชุมนุม เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ส่วนที่ไม่ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเนื่องจากมาตรา 16 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 เขียนนิรโทษกรรมคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐไม่ให้ถูกฟ้องเป็นคดีปกครอง จึงใช้ช่องทางการยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง พร้อมยกกรณีเมื่อปี 2557 นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ในขณะนั้นมายื่นร้องต่อศาลแพ่งให้มีคำวินิจฉัย ยกเลิกและถอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน ซึ่งศาลมีคำวินิจฉัยคุ้มครอง และออกประกาศคุ้มครองผู้ชุมนุมห้ามรัฐบาล กระทำการใดใดที่เป็นการละเมิดสิทธิผู้ชุมนุม และก่อนหน้านั้น กปปส.ก็ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลก็มีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.มีความเป็นไปได้ความสงบเรียบร้อย ศาลแพ่งจึงยกคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมา ประกอบคำวินิจฉัย จึงหวังว่าครั้งนี้ศาลแพ่งจะให้ความเมตตา ซึ่งหากศาลมีคำวินิจฉัยเพิกถอนและคุ้มครองชั่วคราวผู้ชุมนุม ก็มีเหตุอันควรที่จะเป็นการรับรองว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีความผิดโดยเข้าข่ายจงใจละเมิดบทบัญญัติของกฎหมาย จากนั้นตนเองอาจจะพิจารณาใช้ช่องทางกฎหมายอื่นๆ เพื่อยื่นเอาผิดนายกรัฐมนตรีอย่างเช่นการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 157 ฐานปฎิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ และทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาฯพรรคเพื่อไทย จะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว.-สำนักข่าวไทย