กทม.21 ส.ค.-Super Exclusive! พบอดีต ผบช.น. กลางปี 59,ต้นปี 60 บกพร่องคดี “บอส อยู่วิทยา” ตำรวจ สน.ทองหล่อ ลามถึงตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ส่วน พล.ต.ท.เพิ่มพูน รอด! ไม่ถูกเสนอตั้งกรรมการสอบ

มีรายงานว่าหลังจาก คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต เมื่อปี 2555 ซึ่งพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งขึ้น มีพลตำรวจเอกศตวรรษ หิรัญบูรณะที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน ได้ขอขยายเวลาการสอบสวนเพิ่มอีก 10 วัน โดยครบกำหนดการขยายเวลาสอบสวนวันนี้ (21 ส.ค.)
รายงานแจ้งว่า คณะกรรมการฯ ได้ช่วยกันสรุปผลการสอบสวนจนเสร็จสิ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา(20 ส.ค.) และตรวจทานในช่วงเช้าวันนี้(21 ส.ค.) ก่อนเสนอพลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ในวันเดียวกัน เพื่อสั่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อบกพร่องและชี้มูลความผิดที่ปรากฎ
เหตุผลที่คณะกรรมการฯ จำเป็นต้องขอขยายเวลาสอบสวนส่วนหนึ่ง มาจากพลตำรวจโทเพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้ส่งเอกสารชี้แจงเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากมีรายละเอียดบางอย่างที่ต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการฯเพิ่มเติม อาทิ กระบวนการพิจารณาทำความเห็นที่ใช้ระยะเวลานานกว่า 3 เดือน ซึ่งพลตำรวจโทเพิ่มพูน ยังคงยืนยันการใช้ดุลยพินิจ ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการ เป็นไปอย่างถูกต้องทุกประการ
มีรายงานด้วยว่า พลตำรวจเอกมนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร. ได้ส่งเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร 3-4 หน้ากระดาษ ชี้แจงต่อคณะกรรมการฯ กรณีพันตำรวจเอกธนสิทธิ์ แตงจั่น พาดพิงว่า มีการใช้ห้องประชุมกองพิสูจน์หลักฐานพบกับพันตำรวจเอกวิรดล ทับทิมดี , อาจารย์สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร เพื่อพูดคุยสูตรคำนวณความเร็ว จนเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงความเร็วรถยนต์ของนายวรยุท
เอกสารพลตำรวจเอกมนู ยืนยันว่า มีการพบกันในห้องประชุมของ พฐ. จริง แต่พลตำรวจเอกสมยศ ไม่ได้เดินทางมาด้วย และด้วยความรอบคอบพลตำรวจเอกมนู ในฐานะผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจในขณะนั้น ได้มอบหมายให้พลตำรวจโทธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานในขณะนั้น พร้อมด้วยพันตำรวจเอกวิวัฒน์ สิทธิสรเดช ผู้กำกับการ ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพันตำรวจเอกธนสิทธิ์ เข้าร่วมรับฟังด้วย ส่วนพลตำรวจเอกมนู ไปประชุมและทำภารกิจตามปกติ คณะกรรมการฯได้เก็บข้อมูลการชี้แจงนี้ เสนอต่อ ผบ.ตร. ด้วย
มีรายงานข้อมูลสำคัญว่า การพิจารณาข้อบกพร่อง ของคณะกรรมการฯ ได้คัดแยกตำรวจที่มีความบกพร่องในคดีนายวรยุทธ ออกเป็น 4 กลุ่ม โดยบางนายถูกพิจารณาข้อบกพร่องหลายประเด็น
กลุ่มที่ 1 จำนวน 11 นาย เป็นพนักงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งมีจำนวน 2 ชุด บางนายเคยถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว เช่น พันตำรวจเอกวิรดล ทับทิมดี พนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุ , ผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนในขณะนั้น และรองผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ ในฐานะที่กำกับดูแลพันตำรวจเอกวิรดลข้อบกพร่องที่พบ เช่น ไม่ตรวจปัสสาวะ ผู้ต้องหา ซึ่งเป็นประเด็นที่ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ชี้มูลความผิด หรือกรณี ผู้ต้องหามอบตัวแล้วกลับให้ประกันตัวออกไป
กลุ่มที่ 2 จำนวน 9 นาย โดย 6 นาย เป็นอดีตผู้บังคับบัญชาระดับรองผู้บังคับการ ถึงผู้บัญชาการ ในช่วงปี 2559 – 2560 ได้แก่ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในช่วงกลางปี 2559 , อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในช่วงต้นปี 2560 , อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คุมงานสอบสวน, อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ควบคุม บก.น. 5, อดีตผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5, อดีตรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 ข้อบกพร่อง ฐานเป็นผู้บังคับบัญชา ปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจ เนื่องจากพนักงานอัยการ มีหนังสือเร่งรัดให้ออกหมายจับ และส่งตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี แต่อดีตผู้บังคับบัญชาในกลุ่มนี้กลับไม่ดำเนินการออกหมายจับนายวรยุทธ ข้อหาชนแล้วหนี จนเป็นเหตุให้นายวรยุทธ เดินทางออกนอกประเทศ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2560 และอีก 3 นาย คือ พันตำรวจเอกวิรดล ทับทิมดี, ผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ (ในขณะนั้น),รองผู้กำกับการ คุมงานสอบสวน (ในขณะนั้น) ข้อบกพร่อง คือ ไม่ส่งตัวผู้ต้องหาไปตรวจปัสสาวะในทันทีหลังเกิดเหตุ
กลุ่มที่ 3 จำนวน 4 นาย ได้แก่ พันตำรวจเอกธนสิทธิ์ แตงจั่น, พันตำรวจเอกวิวัฒน์ ( ผู้บังคับบัญชาของ พันตำรวจเอกธนสิทธิ์), พลตำรวจโทธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข , รองผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐาน (กำกับดูแลพันตำรวจเอกธนสิทธิ์) ข้อบกพร่อง คือ กลับคำให้การเรื่องความเร็วรถยนต์จนเป็นจุดพลิกคดี
กลุ่มที่ 4 จำนวน 4 นาย ได้แก่ พันตำรวจเอกวิรดล ทับทิมดี ,ผู้กำกับการ สน.ทองหล่อ (ปี 2559 – 2560), รองผู้กำกับ สน.ทองหล่อ (ปี 2559-2560), พนักงานสอบสวน (ลงนามในหนังสือที่ส่งถึงอัยการแทนผู้กำกับ) ข้อบกพร่อง คือ ปรากฎหลักฐานว่ามีการลงวันที่สอบสวนพันตำรวจเอกธนสิทธิ์ 2 วัน แต่ข้อเท็จจริงคือมีการสอบสวนเพียง 1 วัน
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นายตำรวจที่เกี่ยวข้องหลายนายเกษียณอายุราชการไปแล้ว เช่น ผบช.น. จะลงโทษได้หรือไม่ กรณีนี้ หาก ผบ.ตร. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงขึ้นมาแล้วสอบสวนพบมูลความผิดจริง ก็สามารถสั่งลงโทษย้อนหลังได้
ส่วนพลตำรวจโทเพิ่มพูน ก่อนหน้านี้สอบสวนไม่พบข้อบกพร่อง กรณีไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องเด็ดขาดของอัยการนั้น มีรายงานว่า คณะกรรมการฯ มีความเห็นไม่เสนอ ผบ.ตร. ตั้งกรรมการสอบแล้วเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่า “พลตำรวจโทเพิ่มพูน ได้ใช้ดุลพินิจโดยสมบูรณ์รอบคอบตามพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนขณะนั้น” กรณี พลตำรวจโทเพิ่มพูน จึงจบแค่ชั้นสอบสวนของชุดพลตำรวจเอกศตวรรษ.-สำนักข่าวไทย