กรุงเทพฯ 4 ส.ค.-“จารุวัฒน์”ลงพื้นที่สอบปากคำเจ้าของเรือในจ.ปัตตานี พบมีการจับปลาโลมาขึ้นเรือจริงหลังมีคลิปข่าวเรือประมงและคนงานในเรือจับปลาโลมาขึ้นเรือ ยันเอาผิดได้ตามกฎหมายไทย
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบช.กมค./ประธานอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ลงพื้นที่ด้วยตนเองที่จังหวัดปัตตานี กรณีที่มีการเผยแพร่คลิปข่าว เรือประมงล้อมจับปลาโลมาแล้วนำขึ้นเรือและมีคนไทยเข้าร่วม โดยสั่งการเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบข้อเท็จจริงและสืบสวนโดยได้ประสานงานกับกรมประมงและทางการมาเลเซียเพื่อขอข้อมูล และเจ้าหน้าที่ได้ทำการร้องทุกข์ไว้ตามกฎหมาย
จากสอบปากคำเจ้าของเรือเดิม และผู้ที่เกี่ยวข้อง และจากหลักฐานที่ปรากฎตามคลิป พบว่ามีการจับปลาโลมาขึ้นเรือจริง แต่เรือลำดังกล่าวก็ได้โอนเป็นสัญชาติอื่นไปแล้ว. และกระทำความผิดในน่านน้ำของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กฎหมายไทยก็ยังสามารถเอาผิดกับผู้กระทำที่เป็นคนไทยได้ ตามพระราชกําหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม พศ.2560 ตาม มาตรา ๘ เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อองค์การระหว่างประเทศและอนุสัญญาเกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมงที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกด้วย ให้ถือว่าการกระทําความผิดตามพระราชกําหนดนี้ หรือตามกฎหมายของรัฐชายฝั่ง หรือตามหลักเกณฑ์หรือมาตรการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง หรือหลักเกณฑ์หรือมาตรการขององค์การระหว่างประเทศบรรดาที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์และบริหารจัดการการประมง ไม่ว่าจะกระทําในน่านน้ำไทยหรือนอกน่านน้ำไทยและไม่ว่ากระทําโดยใช้เรือประมงไทย เรือประมงที่มิใช่เรือประมงไทย หรือเรือไร้สัญชาติ เป็นการกระทําความผิดในราชอาณาจักรและต้องรับโทษตามที่กําหนดไว้ในพระราชกําหนดนี้ และให้ศาลไทยมีอํานาจ พิจารณาและพิพากษาคดีได้ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีอํานาจ ดําเนินการตามกฎหมายได้ ในการดําเนินการตามวรรคหนึ่ง หากความผิดเกิดขึ้นนอกน่านน้ำไทย และการกระทําความผิดนั้น มิใช่เรือประมงไทยหรือผู้มีสัญชาติไทย ให้กระทําได้เมื่อได้รับแจ้งจากรัฐต่างประเทศที่การกระทําความผิดเกิดขึ้น หรือองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการกระทําความผิดนั้นแล้ว ให้เป็นหน้าที่ของอธิบดีที่จะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือขององค์การ ระหว่างประเทศในการดําเนินการเพื่อลงโทษผู้กระทําความผิดตามพระราชกําหนดนี้ ประกอบกับ มาตรา ๖๖ ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด หรือนําสัตว์น้ำดังกล่าวขึ้นเรือประมง เว้นแต่มีความจําเป็นเพื่อการช่วยชีวิตของสัตว์น้ำนั้น ซี่งตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กําหนดชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ที่ห้ามจับหรือนําขึ้นเรือประมง พ.ศ. ๒๕๕๙
ข้อ ๒ กําหนดให้สัตว์นํ้าชนิดที่เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำที่หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ดังต่อไปนี้ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดจับหรือนําขึ้นเรือประมง
(๓) โลมาและวาฬทุกชนิดในอันดับ (Order) Cetacea
โดยการกระทำผิดดังกล่าว มีโทษ มาตรา ๑๔๕ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๖ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสามล้านบาทหรือปรับจํานวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนําขึ้นเรือประมง แล้วแต่จํานวนใดจะสูงกว่า
พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ กล่าวต่อว่า “การดำเนินการสืบสวนหาตัวผู้กระทำ ผิด จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก โดยจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่กระทำความผิดเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่จะ กระทำอีกในอนาคต .-สำนักข่าวไทย