22 พ.ค. – ตรวจสอบวัดไร่ขิง 7 วัน พบความผิดปกติทุกยอดรายได้ พบ น.ส.อรัญญาวรรณ มีเงินหมุนเวียนเฉพาะรายได้ 1 บัญชี กว่า 2 พันล้านบาท พร้อมเปิดเสียงคลิปลับปมยืมเงิน ขณะที่ “หมอเตย” เป็นหมอดูร่างทรง มีอิทธิพลกับวัด เตรียมเรียกสอบผู้ชาย 5 คนที่เกี่ยวข้อง
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณี “ทิดแย้ม” อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง โดย พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ระบุว่า 7 วันที่ผ่านมา สำหรับคดีนี้ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยลงพื้นที่และเก็บข้อมูลรายละเอียดมาได้เพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นหยุดยั้งการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัด โดยจะต้องแยกว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องบุคคล ไม่ใช่ส่วนรวม ซึ่งการสืบสวนมีทั้งการส่งคนไปสอดแนมเก็บข้อมูลรวบรวมหลักฐาน และการสืบสวนทางเทคโนโลยี จนได้ข้อมูลมา
ด้าน พ.ต.อ.ภัทราวุธ อ่อนช่วย ผู้กำกับการกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม เปิดเผยว่า ภายหลังมีผู้ร้องเรียนถึงเรื่องดังกล่าว ผู้บัญชาการได้มีคำสั่งส่งเรื่องมายังกองกำกับการ 5 เพื่อทำการตรวจสอบ จากนั้นมีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่รวม 6 นาย แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ 1. ชุดวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน เนื่องจากลักษณะคดีเกี่ยวข้องกับการเงิน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างละเอียด ทั้งบัญชีวัด การใช้จ่าย และการโยกย้ายเงินต่าง ๆ เพื่อหาข้อพิรุธ 2. ชุดลงพื้นที่สืบสวนภาคสนาม โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ภายในวัด เพื่อรวบรวมข้อมูล สืบหาผู้เกี่ยวข้อง และตรวจสอบพฤติกรรม ตลอดจนความเชื่อมโยงของบุคคลต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการใช้เงินวัดในลักษณะที่ไม่เหมาะสม หลังจากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด พบมีความน่าเชื่อถือว่า อดีตเจ้าอาวาสมีการยักยอกเงินของวัดไปใช้ในทางส่วนตัว มีทั้งการนำเงินไปให้บุคคลอื่นในวัดใช้ และนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเล่นพนัน
ด้าน พ.ต.อ.จำนาญ จันทร์เทศ ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ระบุว่า จากการตรวจสอบบัญชีย้อนหลังตั้งแต่ปี 64 มีเงินหมุนเวียนกว่า 300 ล้านบาท ล่าสุดมีการขยายผลตรวจบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง ทั้งของวัดและมูลนิธิ จำนวน 51 บัญชี บัญชีส่วนตัวของทิดแย้ม 21 บัญชี และ น.ส.อรัญญาวรรณ อีก 12 บัญชี โดยมุ่งเน้นไปที่เงินหมุนเวียนของ น.ส.อรัญญาวรรณ ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ พบว่า ตั้งแต่ปี 59 ตรวจเจอบัญชีมีเงินหมุนเวียนทั้งหมดกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งพบว่ามีช่องทางการรับเงิน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 1. เป็นการฝากเงินสดเข้าบัญชี 2. รับโอนเงินจากอดีตเจ้าอาวาสโดยตรง 3. โอนเงินจากพระเอกพจน์ คนสนิทของอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง 4. รับโอนเงินจากนายชัชชัย
พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า บัญชีวัดพบความผิดปกติหลายรายการ น่าจะเป็นการทำบัญชีไม่โปร่งใส ยกตัวอย่างเช่น การเปิดเช่าร้านค้างานประจำปี ซึ่งหนึ่งปีจะมีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท เดิมทีมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แต่ปี 63 เป็นต้นมา มีการนำเงินสดทั้งหมดไปมอบให้กับเจ้าอาวาส โดยรวมประมาณ 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบเงินจากกฐินเข้าบัญชีเจ้าอาวาสอีก 20 ล้านบาท และยังมีเงินจากวัตถุมงคล ซึ่งยังไม่ระบุจำนวนแน่ชัด จากการตรวจสอบพบผู้เกี่ยวข้อง 2 คน ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน โดยที่มาที่ไปในการเปิดร้านค้าสวัสดิการ เป็นที่น่าสงสัย ซึ่ง ป.ป.ท. จะต้องตรวจสอบในเชิงลึกและติดตามทรัพย์สินต่อไป
นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และรองโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า เบื้องต้น ปปง. ต้องพิจารณาว่าการกระทำของอดีตเจ้าอาวาสเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายในฐานใด โดยในกรณีนี้เจ้าอาวาสถือเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา และหากพบว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับการนำเงินวัดไปใช้ส่วนตัว ก็จะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน
เมื่อเข้าเกณฑ์ความผิดมูลฐานแล้ว หน้าที่ของ ปปง. คือการตรวจสอบทรัพย์สินและดำเนินการอายัดหรือยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง โดย ปปง.ได้เข้าตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ บก.ปปป. และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ได้แก่ ทิดแย้ม และผู้มีความเกี่ยวข้องอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้ มีการตรวจพบธุรกรรมทางการเงินจำนวนมาก ซึ่งมีความผิดปกติ จึงนำหลักฐานดังกล่าวส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสืบสวนต่อ เพื่อหาว่าใครเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนี้บ้าง ขณะนี้ ปปง.ได้เริ่มขยายผลการตรวจสอบเป็น 3 วง ได้แก่ วงที่ 1 ผู้กระทำความผิดโดยตรง วงที่ 2 และ 3 ผู้ที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่งอาจครอบคลุมถึงบุคคลภายนอก หรือเครือข่ายที่รับผลประโยชน์ โดยหน้าที่ของ ปปง. จะเน้นในด้านการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลจากสถาบันทางการเงินที่มีการรายงานธุรกรรมเข้ามา
นายบุญเชิด กิตติรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า วัดทั่วประเทศกว่า 40,000 แห่ง ในปัจจุบันมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบัญชีในรูปแบบพื้นฐานที่มีมาตรฐาน ตัวอย่างจากวัดนำร่อง 75 แห่ง ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดทำไว้เป็นต้นแบบ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้เกิดการทบทวนระบบการบริหารจัดการวัดอย่างจริงจัง โดยสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิตมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาแนวทางในการนำเสนอข้อปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น / สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมของมหาเถรสมาคม และมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างระบบบริหารจัดการวัดให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยเสนอเป็นแนวทางปฏิบัติ 4 ข้อหลัก ดังนี้ 1.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการสาธารณสมบัติของวัด โดยมีประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคมเป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่วางแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบาย 2.ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการคลัง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ และกระบวนการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด ก่อนเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อประกาศเป็นข้อบังคับใช้ทั่วประเทศ 3.จัดทำบัญชีวัดให้ได้มาตรฐานตามหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล โดยกำหนดนโยบายให้การจัดทำบัญชีมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นระบบที่ได้มาตรฐาน 4.ส่งเสริมการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการรับบริจาคและทำบัญชีวัด เพื่อให้ข้อมูลด้านการเงินสามารถตรวจสอบได้สะดวก และสอดคล้องกับข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสรรพากร
สำหรับประเด็นสุดท้าย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปในครั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะจัดตั้งกองส่งเสริมการจัดการสาธารณสมบัติของวัด ควบคู่กับ กองกฎหมาย และกองกิจการในตำรวจสังฆราช ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 โดยทั้ง 3 กองนี้จะมีภารกิจตามกฎหมายอย่างชัดเจน และมีโครงสร้างรองรับในการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพย์สินวัดในเชิงลึก นายบุญเชิด ยังกล่าวย้ำว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ภาพสะท้อนของคณะสงฆ์หรือวัดโดยรวม พร้อมยืนยันว่าวัดยังคงเป็นสมบัติของชุมชนและของแผ่นดิน เช่นกรณีวัดไร่ขิงก็ยังต้องเดินหน้าต่อในฐานะศูนย์กลางจิตใจของประชาชน พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลรักษาวัดให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติต่อไป
โดยขณะการแถลงข่าวนั้น มีการเปิดไฟล์คลิปเสียงระหว่าง ทิดแย้ม กับนางสาวอรัญญาวรรณ พูดคุยกัน ซึ่งทาง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ระบุว่า ในคลิปมีการพูดถึงเรื่องต้องโอนเงินเข้าระบบการเล่นการพนัน ที่ค้าง 4 งวด เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท โดยเข้าใจได้ว่าเป็นทางทิดแย้มโอนเงินให้ทางนางสาวอรัญญาวรรณ ไปเล่นการพนัน และจากข้อมูลโทรศัพท์ของทิดแย้ม ยังไม่พบความสัมพันธ์จากตัวทิดแย้มในการเล่นพนัน แต่ทิดแย้ม ทราบว่านางสาวอรัญญาวรรณ เล่นการพนัน
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ บอกอีกว่า ตามข้อมูลนางสาวอรัญญาวรรณ เป็นเด็กข้างวัด เรียนอยู่ที่วัดไร่ขิง ตอนอยู่มัธยมต้นมาทำกิจกรรมจิตอาสาที่วัด หลังจากนั้นก็ออกไปทำงาน ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ จึงไปขอร้องหยิบยืมทิดแย้ม เพราะทิดแย้มเคยพูดว่าเป็นเด็กวัดไร่ขิง มีแหวนวัดไร่ขิง ถ้ามีปัญหาอะไรให้มาพบได้ นางสาวอรัญญาวรรณจึงมายืมเงินทิดแย้ม 50,000-60,000 บาท ทางด้านทิดแย้ม ก็ช่วยเหลือไป หลังจากนั้นก็เริ่มติดต่อสัมพันธ์พูดคุยกันทุกวัน และมีการโอนเงินให้เล็กๆ น้อยๆ จากนั้นก็เริ่มมีการแลกเปลี่ยนกัน แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งถึงขั้นมีการพูดคุยโชว์หน้ากัน หลังจากพูดคุยลงต่ำไปเรื่อย ๆ ทำให้เงินของวัดเริ่มไหลออกจากบัญชีวัดเรื่อย ๆ เช่นกัน
ทั้งนี้ ในช่วงแรกยังยืนยันไม่ได้ว่าทิดแย้มกับนางสาวอรัญญาวรรณ มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ แต่ตรวจสอบได้ว่าในช่วงที่เริ่มมีเงินไหลออกจากบัญชี มีการติดต่อสัมพันธ์พูดคุยกันในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงปี 63 – ปลายปี 67 และในคลิปเสียงคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลาย ปี 67 โดยโต้แย้งกันเรื่องของเงินที่จะไปเล่นการพนัน ซึ่งทิดแย้มหมดทางที่จะไปต่อ เงินวัดร่อยหรอ และไม่รู้จะไปยืมเงินใคร ทิดแย้มจึงรู้ตัวว่าไม่ไหวแล้ว ต่อมาอีก 2 เดือน ประมาณเดือนธันวาคม 67 นางสาวอรัญญาวรรณและสามีก็ถูกตำรวจไซเบอร์จับกุม และได้ไปขอความช่วยเหลือจากทางทิดแย้มอีกครั้ง โดยได้พูดกับทิดแย้มว่าคลิปต่าง ๆ ที่มีอยู่ รวมถึงคลิปเซ็กส์โฟน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ยึดไป เพื่อแบล็กเมล์ทิดแย้มให้ช่วยเหลือ ส่วนจะเข้าข่ายการรีดทรัพย์ทิดแย้มหรือไม่ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ตอบว่า เรื่องนี้มองเป็น 2 เรื่อง ๆ แรกคือการทุจริต เรื่องที่ 2 คืออุบายการเเบล็กเมล์ อย่างไรก็ตาม ทิดแย้ม ได้กระทำผิดสำเร็จแล้ว จึงยืนยันว่าไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ จึงอยากเรียนให้ทราบเพื่อไม่เข้าใจว่าทิดแย้มเป็นผู้ถูกแบล็กเมล์ ทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าทางทิดแย้มกับนางสาวอรัญญาวรรณ มีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวหรือไม่
ส่วนกรณีหมอเตยและสามีเป็นเรื่องที่ตรวจสอบรายละเอียดลึกลงไป พบว่าทั้งคู่ได้เข้ามารู้จักกับเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 51 โดยพบว่าหมอเตยเป็นหมอดูร่างทรง ไม่ใช่หมอ และยังพบว่าเป็นผู้มีอิทธิพลกับทิดแย้มอย่างมากในการบริหารจัดการภายในวัด โดยสิ่งที่พบคือร้านค้าสวัสดิการในวัด มีคนมาร้องว่าไปซื้อกาแฟ แต่บัญชีในการสแกนไม่ใช่ชื่อของวัดแต่เป็นชื่อของบุคคล ซึ่งก็จะต้องสืบสวนดำเนินการต่อ โดยจากการสืบสวนเบื้องต้นข้อมูลที่ได้มาพบว่าหมอเตยเคยเขียนหนังสือความเชื่อมโยงการเกิด แก่เมื่อชาติปางก่อน ว่าทิดแย้มกับหมอเตยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ซึ่งข้อมูลนี้เป็นการสอบถามข้อมูลจากคนใกล้ชิด แต่ยังหาพยานหลักฐานไม่ได้ว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันหรือไม่ โดยยังพบว่าในช่วงแรกทางทิดแย้มมีการดุด่าว่ากล่าวหมอเตย แต่ช่วงหลังมีการเปลี่ยนไปไม่ฟังเสียงคนอื่น นอกจากนี้ยังพบอีกว่าตั้งแต่ปี 51 มีผู้ชาย 5 คน เข้ามาเกี่ยวข้องกับหมอเตยอีกเช่นกัน แต่ยังไม่ทราบตอนนี้ว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งแค่ไหน. -416- สำนักข่าวไทย