บช.ก. 15 พ.ค. – นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ประธานชมรมสันติประชาธรรม พร้อมด้วยผู้เสียหายกว่า 30 คน เดินทางเข้าร้องเรียนต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายบ้านมือสอง โดยผู้เสียหายอ้างว่าถูกหลอกลวงให้ซื้อบ้านที่มาจากการประมูลของกรมบังคับคดี แต่บริษัทฯ ไม่ดำเนินการไถ่ถอน หรือโอนกรรมสิทธิ์ ทำให้ผู้ซื้อได้รับความเสียหายรวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท
“อี้ แทนคุณ” เปิดเผยว่า บริษัทดังกล่าวมีพฤติการณ์ในการซื้อทรัพย์สินที่ประมูลมาจากกรมบังคับคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินที่ยังติดจำนองและมีเพียงสิทธิ์ครอบครอง จากนั้นนำมาประกาศขายต่อให้กับประชาชนที่ไม่สามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ โดยใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก, ไลน์ และเพจของบริษัทเอง พร้อมทั้งใช้เซลล์และผู้จัดการเขตในจังหวัดต่างๆ เป็นผู้ชักชวนให้ผู้ที่ต้องการมีบ้านหลงเชื่อ
บริษัทฯ ใช้วิธีการโฆษณาโดยหลอกล่อให้ผู้ซื้อวางเงินดาวน์ 10% ของราคาบ้าน แต่คิดดอกเบี้ยถึง 6% ต่อปี โดยยังไม่พร้อมให้เข้าอยู่ และให้ผู้ซื้อเช่าซื้อหรือ ‘ออม’ กับบริษัทฯ โดยแบ่งจ่ายเป็นค่าเช่าครึ่งหนึ่งและเงินออมครึ่งหนึ่ง พร้อมทั้งยืนยันว่าจะดำเนินการให้ผู้ซื้อได้บ้านอย่างแน่นอน”
ผู้เสียหายหลายรายให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หลังจากทำสัญญาและจ่ายเงินดาวน์ไปแล้ว กลับปรากฏว่ามีหมายศาลมาติดที่หน้าบ้าน แจ้งว่าเป็นทรัพย์สินที่ต้องถูกนำไปขายทอดตลาดอีกครั้ง เมื่อสอบถามไปยังบริษัทฯ กลับได้รับคำตอบว่าไม่ต้องสนใจ และบริษัทฯ จะดำเนินการประมูลให้เอง หรือจัดหาบ้านหลังใหม่ให้
นอกจากนี้ ผู้เสียหายบางรายต้องเข้าไปปรับปรุงบ้านที่อยู่ในสภาพทรุดโทรมด้วยเงินส่วนตัวหลายแสนบาท แต่เมื่อตรวจสอบไปยังกรมที่ดิน กลับพบว่าบริษัทฯ ยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือไถ่ถอนจำนองแต่อย่างใด โดยอ้างว่าไม่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการไถ่ถอน บริษัทฯ ยังข่มขู่คุกคามผู้ซื้อที่ไม่จ่ายเงินตามสัญญา โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้หญิงและเด็ก เช่น การนำรถมาจอดขวางหน้าบ้าน อ้างว่าเป็นบ้านของตัวเอง และฟ้องร้องผู้ซื้อในข้อหาผิดสัญญา เรียกค่าเสียหาย และฟ้องขับไล่ออกจากบ้าน ทั้งที่บ้านถูกประมูลเปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว
อี้ แทนคุณ กล่าวเสริมว่า ผู้เสียหายบางรายที่ออกจากบ้านไปแล้ว กลับถูกบริษัทฯ ฟ้องบังคับคดีจนถูกอายัดเงินเดือน หรือถูกเรียกค่าเสื่อมสภาพของบ้าน ทั้งที่บริษัทฯ ไม่เคยเข้ามาปรับปรุงซ่อมแซมใดๆ
อี้ แทนคุณ กล่าวอีกว่า ในปี 2564 มีผู้เสียหายมูลค่าความเสียหายกว่า 56 ล้านบาท รวมประมาณ 52 ราย เตรียมเข้าแจ้งความกับกองปราบปรามในลักษณะเดียวกัน โดยบริษัทฯ ได้นำทรัพย์สินที่ประมูลมาให้เช่าซื้อหรือเช่าออม โดยที่ยังคงมีภาระดอกเบี้ยจำนองกับธนาคาร ทำให้ผู้ซื้อต้องเป็นหนี้ทั้งธนาคารและบริษัท Easy Home
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่บริษัทฯ แจ้งความจับผู้ซื้อในข้อหาบุกรุก ทำให้ต้องเสียอิสรภาพ และบางครั้งถึงขั้นล็อคประตูบ้านหากไม่จ่ายเงินตามกำหนด ปัจจุบันยังมีผู้เสียหายอีกจำนวนมากที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย และหลงเชื่อว่าบริษัทฯ นี้มีธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ประกอบกับไม่มีเครดิตในการผ่อนบ้านกับสถาบันการเงิน จึงตกเป็นเหยื่อของบริษัทแห่งนี้” อี้ แทนคุณ กล่าว
ด้าน 1 ในผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อซื้อบ้านได้ จึงติดต่อบริษัทดังกล่าว เป็นนายหน้าทำธุรกรรมแทนโดยทำสัญญา 3 ปีแรกผ่อนเดือนละ 18,000 บาท เป็นค่าเช่า 9,000 บาท และเป็นเงินออมดาวอีก 9,000 บาท แต่เมื่อครบ 3 ปี กลับมีหมายจากกรมบังคับคดีบังคับให้ตนย้ายออก เมื่อไปถามทางบริษัทกลับไม่ได้รับคำตอบใดๆ แถมยังถูกกลั่นแกล้ง นำรถมาจอดขวางหน้าบ้านไม่ให้ตนเข้าออก นำกุญแจมาล็อกประตูรั้วบ้าน ทั้งทั้งที่ตนผ่อนจ่ายตามสัญญาครบทุกงวดไม่เคยขาดแม้แต่งวดเดียว วันนี้จึงอยากให้ตำรวจกองปราบเข้าตรวจสอบการทำธุรกรรมของบริษัทนี้ถูกต้องหรือไม่.-415-สำนักข่าวไทย