บช.สอท. 14 ม.ค. – ตำรวจไซเบอร์เตรียมเสนอปิดเว็บไซต์ Polymarket.com เปิดเดิมพันเหตุการณ์สำคัญของโลก ผ่านคริปโตเคอร์เรนซี่ ด้าน ผบช.สอท.เผยแอปมือถือ 2 ค่าย เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.คอมฯ
พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวตำรวจไซเบอร์เตรียมเสนอปิดเว็บไซต์ Polymarket.com เปิดให้มีการเดิมพันเหตุการณ์สำคัญของโลก ผ่านคริปโตเคอร์เรนซี่
พล.ต.ท.ไตรรงค์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้ดำเนินการเฝ้าติดตาม เว็บไซต์การพนันออนไลน์ที่มีลักษณะเข้าข่ายผิดกฎหมายในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าปัจจุบันมีการพัฒนาเข้าสู่ยุค เว็บ 3.0 และมีการนำคริปโตเคอร์เรนซี่ มาใช้เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรม ซึ่งเพิ่มความซับซ้อนและความยากในการตรวจสอบและติดตาม
จากการสืบสวนพบว่าเว็บไซต์ Polymarket.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ระดับโลกที่ให้บริการการทำนายผลหลากหลายประเภท เช่น การเมือง กีฬา บันเทิง และเศรษฐกิจ มีลักษณะเข้าข่ายการพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย เนื่องจากการใช้คริปโตเคอร์เรนซี่ในการแลกเปลี่ยนและเดิมพันขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวยังถูกปิดกั้นหรือควบคุมการเข้าถึงในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนและความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจ
บช.สอท. เห็นว่าการดำเนินการระงับเว็บไซต์ Polymarket.com มีความสำคัญ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการพนันออนไลน์ และเพื่อป้องกันการนำคริปโตเคอร์เรนซี่ไปใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างร้ายแรง
สำหรับการเฝ้าระวังและความร่วมมือระหว่างประเทศ ทางตำรวจได้จัดตั้งทีมงานเฉพาะกิจเพื่อเฝ้าระวังและรวบรวมข้อมูล รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์ลักษณะดังกล่าว การดำเนินการนี้สะท้อนถึงความพยายามร่วมกันของนานาประเทศในการควบคุมและป้องกันกิจกรรมที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
ฝากเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมบนเว็บไซต์ที่ไม่ได้รับอนุญาต และระมัดระวังการใช้คริปโตเคอร์เรนซี่ในทางที่ผิด หากพบข้อมูลหรือเบาะแสเกี่ยวกับเว็บไซต์ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย สามารถแจ้งข้อมูลได้ที่สายด่วน AOC 1441 หรือแจ้งความออนไลน์ที่ https://thaipoliceonline.go.th/
นอกจากนี้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ยังกล่าวถึงแนวทางการสกัดกั้นเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า จะมีการคัดกรองคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ทาง ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทางตำรวจคนตรวจคนเข้าเมือง ประสานการปฎิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในตำรวจเองก็จะมีตำรวจสันติบาลและตำรวจไซเบอร์ เพื่อที่จะรับทราบข้อมูลว่าบุคคลใดมีพฤติการณ์ที่ควรจะเฝ้าระวัง และน่าเชื่อว่าจะมาก่อเหตุในลักษณะของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์ เช่น ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่าน คือเดินทางมาที่ประเทศไทยโดยสายการบิน จากนั้นเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 เพื่อไปประกอบการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ นอกจากนี้ก็ยังมีการสกัดกั้นในส่วนของคนไทยที่จะออกไปร่วมขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อทำการหลอกคนไทยด้วยกัน โดยสกัดกั้นไม่ให้ออกเดินทางไปนอกประเทศได้ เพื่อเป็นการยับยั้งการก่อเหตุอาชญากรรมทางออนไลน์ ซึ่งก็จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจในพื้นที่แนวชายแดน ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจไซเบอร์ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและปกครองในพื้นที่
ผบช.สอท.ยอมรับว่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันเป็นปัญหาของทุกประเทศทั่วโลก ในประเทศเราเองก็มีสแกมเซ็นเตอร์บ้าง แต่ที่ผ่านมาทางตำรวจเองก็มีการปราบปรามอย่างจริงจัง และมีการจับกุมได้อยู่ตลอด โดยส่วนมากประเทศไทยจะมีปัญหาเรื่องสแกมเซ็นเตอร์ที่อยู่เพื่อนบ้าน ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องมีการสกัดกั้นทั้งตัวคนและสกัดกั้นสัญญาณโทรศัพท์ไม่ให้กระจายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และสกัดกั้นอุปกรณ์เครื่องมือเกี่ยวกับการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นซิมบล็อก ไม่ให้นำมาใช้ในประเทศไทย และจะยกระดับความร่วมมือให้เป็นระดับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ในกรณีการหลอกเยาวชนไปทำงานแก็งคอลเซ็นเตอร์ก็มีการป้องกันโดยมีการสร้างความรับรู้ให้กับประชาชน
ส่วนกรณีแอปพลิเคชั่นที่มากับระบบปฏิบัติการมือถือของ 2 ค่ายดังนั้น พล.ต.ท.ไตรรงค์ กล่าวว่า ทางตำรวจไซเบอร์เมื่อทราบข่าวก็ได้มีการตรวจสอบ พบว่าแอปพลิเคชั่นดังกล่าวมากับตัวปฏิบัติการคัลเลอร์โอเอส ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่กำหนดเอง พัฒนาโดยบริษัทของมือถือดังกล่าว โดยใช้พื้นฐานจากระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ แต่คันเลอร์โอเอส จะมาคลุมที่แอนดรอยด์อีกชั้นหนึ่ง และปรับแต่งรูปแบบแอปพลิเคชั่นให้แนบเนียนไปกับโทรศัพท์ ซึ่งแอนดรอยด์เวอร์ชั่น 15 ที่เป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน พบว่ามีแอปฟินอีซี่ และสินเชื่อความสุข ติดตั้งมากับโทรศัพท์ค่ายดังกล่าวด้วย โดยติดตั้งมาเอง ซึ่งผู้ซื้อโทรศัพท์ไม่ได้เป็นคนโหลดติดตั้งมา เมื่อพบว่าเป็นลักษณะนี้ ก็ต้องมาตรวจสอบว่าจะเข้าข่ายความผิดตามกฏหมายหรือไม่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็จะเข้าข่ายความผิดตามกฏหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์มาตรา 13 จำหน่ายหรือเผยแพร่ชุดคำสั่งที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีปรับไม่เกิน 20,000 หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้ทางตำรวจไซเบอร์ยังไม่ได้รับเรื่องจากผู้เสียหายในส่วนนี้ แต่หากมีผู้เสียหายอยากสอบถามถึงประเด็นการเข้าใช้งานต่างๆ เพื่อพิจารณาว่าเกิดความเสียหายขึ้นหรือไม่ และการเข้าใช้งานแอปเป็นอย่างไร เพื่อทำการพิจารณาว่าจะเข้าข่ายความผิดอื่นอีกหรือไม่. -419-สำนักข่าวไทย