15 ส.ค. – อัยการสูงสุดชี้แจงกรณีพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง “พิชิต ชื่นบาน” กับพวกรวม 3 คน ยืนยัน “ชัยเกษม” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณาสั่งไม่ฟ้อง
เมื่อเวลา 14.30 น.นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ อัยการประจำจังหวัดสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะรองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้แถลงข่าวกรณีนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด สั่งไม่ฟ้องนายพิชิต ชื่นบาน กับพวกรวม 3 คนนั้น ทางโฆษกอัยการสูงสุดได้ตรวจสอบสำนวนคดีดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า นายชัยเกษม ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการสั่งคดี
จากที่ก่อนหน้านี้มีสื่อนำเสนอข่าวว่า นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด เป็นผู้สั่งไม่ฟ้องนายพิชิต ชื่นบาน กับพวกรวม 3 คน จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ยืนยันว่าข่าวดังกล่าวมีการคลาดเคลื่อน และไม่เป็นความจริง โดยนายชัยเกษม ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการสั่งคดีดังกล่าวแต่อย่างใด
นายประยุทธ ได้ชี้แจงถึงลำดับขั้นตอนและการสั่งคดีว่า สำนวนคดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 สำนักงานคดีอาญา โดยสำนักงานอัยการพิเศษฝ่าย คดีอาญา 7 ได้รับสำนวนพร้อมความเห็นเสนอสั่งไม่ฟ้องจากพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม โดยได้กล่าวหานายพิชิต ชื่นบาน (ทนายความ) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 นางสาวศุภศรี ศรีสวัสดิ์ (เสมียนทนาย) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และนายธนา ตันศิริ (ผู้ประสานงานในคดี ) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ข้อหาร่วมกันให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2551 ในท้องที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนวนดังกล่าวพนักงานสอบสวนเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทุกคน โดยเห็นว่าผู้ต้องหาทั้งสาม ไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา
เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนแล้วนายสมเจตน์ ชัยเฉลิมปรีชา อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจพิจารณาสำนวน ประกอบด้วยนายยงยุทธ ศรีสัตยาชน อัยการจังหวัดประจำกรม และนายสมบูรณ์ ศุภอักษร อัยการอาวุโส เป็นคณะทำงาน โดยมีนายสมเจตน์ ชัยเฉลิมปรีชา เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ซึ่งคณะทำงานได้ตรวจสำนวนโดยละเอียดแล้วเห็นพ้องกับความเห็นของคณะพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ในการสั่งไม่ฟ้อง จากนั้นได้เสนอสำนวนพร้อมความเห็นต่อ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เพื่อพิจารณาตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งรองอธิบดีก็มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องด้วยเช่นกัน จากนั้นจึงได้เสนอสำนวนให้อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาพิจารณา ซึ่งอธิบดีฯ ได้พิจารณาแล้วมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามตามความเห็นของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการซึ่งเป็นคณะทำงาน และรองอธิบดีอัยการเสนอ
หลังจากที่มีการลงความเห็นสั่งไม่ฟ้อง อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นทั้งหมดให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ซึ่งในขณะนั้น มีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2552 ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา และเมื่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง ถือว่า คำสั่งไม่ฟ้อง เสร็จเด็ดขาดตามขั้นตอนของกฎหมาย
ด้านนายนาเคนทร์ กล่าวว่า สำหรับกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่สั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งสามรายเนื่องจากขาดองค์ประกอบการกระทำความผิดตามมาตรา 144 เพราะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการนำเงินไปให้กับหม่อมหลวงฐิติพงศ์ ชมพูนุท ที่เป็นเจ้าหน้าที่นั้นให้นำเงินไปกระทำหรือไม่กระทำการใด และบุคคลดังกล่าว ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินคดี และไม่มีข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงไปถึงผู้พิพากษา อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวเป็นคนกรณีกับคดีละเมิดอำนาจศาล
จะเห็นว่าไม่มีขั้นตอนใดที่นายชัยเกษม อดีตอัยการสูงสุด เข้ามาเกี่ยวข้องหรือสั่งการ การนำเสนอข่าวว่านายชัยเกษม เป็นผู้สั่งไม่ฟ้องนายพิชิต กับพวกนั้น จึงไม่ตรงและไม่ถูกต้อง และจำเป็นต้องให้ความชัดเจนกับสังคม เพื่อให้สังคมได้เข้าใจข้อมูลและข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง. -420-สำนักข่าวไทย