กรุงเทพฯ 28 ก.ค. – ลูกบ้านห้องชุดแอชตันคอนโด กังวลหลังศาลปครองสูงสุด เพิกถอนใบอนุญาตคอนโดหรู เรียกร้องให้บริษัทเเสดงความรับผิดชอบ หาทางออกโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึง 14 วัน
หลังศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการก่อสร้างโครงการคอนโดหรู แอชตัน อโศก เนื่องจากการก่อสร้างผิดเเบบที่ขออนุญาต เเละใช้พื้นที่ทางออกของคอนโด เป็นของ รฟท. ซึ่งคำสั่งศาล ทำให้มีลูกบ้านที่เป็นเจ้าของร่วม 580 ครอบครัว ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เเละคนไทย ที่ซื้อห้องชุดไว้
ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่คอนโดหรูย่านโศก พบว่า มีสื่อมวลชนจำนวนมากที่ให้ความสนใจไปติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกบ้าน เเละหาทางออก โดยพนักงานรักษาความปลอดภัย เเละนิติบุคคล คุมเข้ม ไม่อนุญาตเข้าไปภายในเขตคอนโด เเละอยู่ได้ตรงบริเวณทางเข้ารถไฟใต้ดินสุขุมวิท ที่ติดกับทางเข้าคอนโดเท่านั้น ขณะที่ผู้อาศัยยังคงเดินเข้าเดินออกคอนโดตามปกติ เเต่หลายคนเกิดความไม่สบายใจ
นายพรชัย ลูกบ้านซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เสียหาย เล่าว่า หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งออกมา เวลา 16.00 น. วานนี้ (27 ก.ค.) บริษัทอนันดาได้ประชุมผ่าน zoom เวลา 18.00 น กับกลุ่มเจ้าของร่วม กว่า 300 คน ตนได้รับการสื่อสารจากประธานทีมงาน ว่าขอเวลาอีก 14 วัน เเต่ตอนนี้ยังไม่มีแนวทางแก้ไขหรือเยียวยาใดๆ ให้กลับลูกบ้านทั้งสิ้น สร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มเจ้าของร่วม ลูกบ้าน ที่ต่างกังวลใจ ในเรื่องของกรรมสิทธิ์เพราะซื้อสินค้าที่เป็นห้องเช่ามาแล้ว สุดท้ายอาจจะเสียทรัพย์ไปหรือไม่ กังวลในคำสั่งที่มีการเพิกถอนใบอนุญาต เราจะยังอาศัยอยู่ต่อได้หรือไม่ หากจะต้องขายต่อไปให้กับใครก็อยู่ในความเสี่ยงเพราะคงไม่มีใครกล้าที่จะมาซื้อต่อ
สำหรับโครงการนี้เจ้าของร่วมทุกท่านไม่มีใครทราบมาก่อนเลยว่าโครงการนี้ติดคดีความ ทุกคนซื้อคอนโด คงไม่มีใครไปขอดูใบอนุญาตในตอนนั้น เจ้าของโครงการเองก็ไม่มีใครออกมาพูดความจริง หน่วยงานราชการก็ไม่มีหน่วยใดออกมาเปิดเผยว่า ติดคดีความอยู่ เราถือเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มาซื้อโดยสุจริต มาทราบเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ปี 2564 จากข่าวว่าศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาต
ทุกคนต่างก็ตกใจ หลังจากนั้นได้ดำเนินการไปขอความช่วยเหลือกับคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค รัฐสภา ได้รับการอนุเคราะห์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ตามบันทึกข้อ 6 ระบุว่าทางบริษัท อนันดา ส่งฝ่ายกฎหมายเข้าร่วมการประชุม และบันทึกหาทางช่วยเหลือเยียวยาเอาไว้ หลังจากนั้นมีการประชุมร่วมกันอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อ 21 กรกฎาคม 2565 และบันทึกข้อตกลงร่วมกันว่าจะช่วยเหลือและมีการจัดเตรียมงบสำรองเงินเอาไว้แล้ว แต่เมื่อวานนี้ นำหลักฐานบันทึกการประชุมไปมอบให้กับประธาน แต่กลับได้รับคำตอบว่าไม่มีหนทางแก้ไขใดๆ ให้กับผู้เสียหาย รวมไปถึงฝ่ายกฎหมายพูดจาด้วยถ้อยคำไม่ดี กับผู้ที่เป็นเจ้าของร่วม
นายพรชัย บอกด้วยว่า ที่แห่งนี้เดิมเป็นที่ตาบอดถูกเวนคืน ตามกฎหมายแล้วการสร้างอาคารสูงพิเศษแบบนี้จะต้องมีทางเข้าออกเพื่อให้รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้ ซึ่งทางบริษัทเองพยายามจะสร้างเป็นตึกสูง ส่วนของขั้นตอนต่างๆ ทางผู้บริโภคไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่ามีการขออนุญาตหน่วยงานไหนก่อนการก่อสร้างหรือไม่ แต่ที่รู้คือมีเจตนาปกปิดอย่างชัดเจน ตอนนี้มีหลายกลุ่มอยากจะเป็นเจ้าของต่อ ขณะที่บางกลุ่มไม่อยากคืนห้องในส่วนนี้ นอกจากนี้ยังมีการหารือกันด้วยว่าจะซื้อที่ดินเพื่อทำทางเข้าออกให้ถูกกฎหมายได้อย่างไร ซึ่งก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะดำเนินการในปัญหานี้อย่างไร
หลังจากศาลมีคำสั่งออกมาแล้วนั้น พบว่าผู้เช่าพักอาศัยยังคงสามารถเดินทางเข้าออกได้ตามปกติ พักอาศัยได้ ยังไม่มีการตัดน้ำตัดไฟ ซึ่งถือเป็นความกังวลใจทั้งเจ้าของร่วมและก็ลูกบ้าน ต่างเกรงว่ากรรมสิทธิ์จะหลุด ผ่อนลม ทำอะไรไม่ได้ หลายคนอยากคืน หลายคนอยากอยู่ต่อ เราเป็นผู้บริสุทธิ์ อาจต้องร้องถวายฎีกาขอความเป็นธรรม .-สำนักข่าวไทย