กรุงเทพฯ 13 มิ.ย.- ทนายความ พร้อมชาวบ้าน แจ้งความตำรวจ ปปป.เอาผิดอดีตผู้ว่าฯ โคราช ปมทำหลักฐานเท็จ เอื้อประโยชน์เอกชนใช้ที่ดินหลวง-ลำน้ำสาธารณะ
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 มิ.ย. ที่ศูนย์รับแจ้งความกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม. นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความ พร้อมนายสมบุญ เต๊งผักแว่น ตัวแทนชาวบ้าน ต.นากลาง จ.นครราชสีมา เดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวน บก.ปปป.แจ้งความให้ดำเนินคดีกับอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กับพวกรวม 4 คน ในข้อหา มาตรา 157 โดยมีการทำหลักฐานการตรวจสอบสภาพภายในโครงการนิคมอุตสาหกรรมใน อ.สูงเนิน อันเป็นเท็จและบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อเอื้อประโยชน์แก่โครงการสามารถยึดที่ดินหลวงไปกว่า 10 ไร่ และลำน้ำสาธารณะไปใช้ประโยชน์แก่โครงการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
นายกฤษฎา เผยว่า ตนมาแจ้งความเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ 4 คน ประกอบด้วย 1.ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (ในขณะนั้น) 2.นายอำเภอ 3.นายก อบต.และ 4.กำนัน ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันทำรายงานการสอบข้อเท็จจริงของ จ.นครราชสีมา ฉบับลงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยมีเจตนาพิเศษหรือมีมูลเหตุจูงใจในการกระทำความผิดเพื่อต้องการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษทางอาญา
ประเด็นแรก เรื่องลำน้ำสาธารณะกุดปืน ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยระบุว่า “จากการตรวจสอบพื้นที่จุดร้องเรียนเห็นชัดเจนโดยสภาพว่าสภาพลำน้ำสาธารณะยังคงมีสภาพเช่นเดิม มีลักษณะเป็นคลองน้ำ และไม่มีการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆไปทับที่ดินสาธารณะหรือลำน้ำสาธารณะที่จะเป็นเหตุให้ลำน้ำสาธารณะมีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไปในการสิ้นไร้ประโยชน์ และประชาชนก็สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ โดยบริษัทนิคมอุตสาหกรรมมิได้หวงห้ามแต่อย่างใด ลำน้ำสาธารณประโยชน์ดังกล่าวประชาชนพลเมืองยังใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อยู่จนถึงปัจจุบัน”
ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน กระทำไปเพื่อต้องการให้ผู้กระทำผิดต้องหลุดพ้นจากความผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ถือเป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติและประชาชน หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เนื่องจากมีพยานหลักฐานเป็นภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ปี พ.ศ.2517 แสดงให้เห็นเส้นทางของลำน้ำกุดปืนเป็นเส้นตรงทอดยาวไปตลอด แต่ต่อมาประมาณปี 2547-2548 บริษัทเสนอทำโครงการเขตประกอบอุตสาหกรรม เนื้อที่ประมาณ 1,567 ไร่ 25.8 ตร.ว.จนกระทั่งโครงการดังกล่าวได้รับอนุญาตตามแผนที่ท้ายประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2548 เมื่อพิจารณาจากแผนที่แนบท้ายดังกล่าวเห็นได้ว่า สภาพลำน้ำกุดปีนถูกเบี่ยงเบนเส้นทางน้ำให้มีลักษณะโค้งไปโค้งมา เพื่อประโยชน์แก่พื้นที่โครงการ และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำเห็นได้จากในฤดูน้ำหลาก ก็จะปล่อยน้ำออกจากลำน้ำกุดปืนมาท่วมบ้านเรือนประชาชน แต่ภายในโครงการน้ำกลับไม่ท่วม ส่วนในฤดูแล้ง ก็จะกักเก็บน้ำไว้ในบ่อภายในโครงการจำนวนหลายบ่อ แต่ประชาชนไม่สามารถเข้าไปเอาน้ำในลำน้ำกุดปืนได้ เพราะบริษัทไม่อนุญาตให้เข้าไปภายในโครงการ เนื่องจากเป็นนิคมปิด
ประเด็นที่สอง เรื่องที่ดินสาธารณะประโยชน์ภายในโครงการ ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ร่วมกันบิดเบือนข้อเท็จจริงว่า “เดิมทำเลกุดปืนมีเนื้อที่ดิน 6 ไร่ 2 งาน 97 ตร.ว. แต่มีการเลิกใช้ประโยชน์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เมื่อนิคมอุตสาหกรรมมาซื้อที่ดินใกล้บริเวณดังกล่าว มีที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่กลางที่เอกชนไม่มีการใช้ประโยชน์นาน จึงมีสภาพตื้นเขิน บริษัทนิคมอุตสาหกรรม โดยความยินยอมของประชาชนในสมัยนั้น ยินยอมให้พัฒนาเป็นคูคลองสวยงามสะอาดตาและมีสภาพคลองสาธารณประโยชน์ ไม่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนกระทำไปเพื่อต้องการให้ผู้กระทำผิดหลุดพ้นจากความผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมาย ถือเป็นการร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ชาติและประชาชนหรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เนื่องจากที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวแต่เดิมสมัยปู่ ย่า ตา ยาย หลายชั่วอายุคนแล้ว ใช้ที่ดินเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ และในบริเวณดังกล่าวก็มีลำน้ำสาธารณะกุดปืนทอดยาวตลอด ที่ดินบริเวณนี้จึงเหมาะสำหรับเป็นที่เลี้ยงสัตว์ของชาวบ้านในตำบลนากลางมาโดยตลอด
ตามกฎหมายถือว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ใดจะเข้ายึดถือครอบครองเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะตนนั้นไม่ได้ แต่บริษัท นิคมอุตสาหกรรมมีการแสดงแผนที่แนวเขตเบี่ยงเบนเส้นทางลำน้ำกุดปืนให้อ้อมไปด้านหลังที่ดินหลวง โดยมีเจตนาพิเศษต้องการครอบครองที่ดินหลวงกว่า 10 ไร่นี้ไปเป็นประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง เห็นได้จากแผนที่แนบท้ายลำน้ำกุดปืนถูกเบี่ยงเบนลำน้ำ โดยมีลักษณะโค้งไปโค้งมาและอ้อมไปด้านหลังแปลงที่ดินสาธารณประโยชน์ ส่วนด้านหน้ามีการถมลำน้ำเพื่อให้มีสภาพที่ดินเป็นผืนเดียวกัน ขัดแย้งกับภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ปี พ.ศ.2517 อย่างสิ้นเชิง
เพราะตามแผนที่ทหารมีที่ดินสาธารณประโยชน์และเส้นทางของลำน้ำกุดปืนเป็นเส้นตรงผ่านแปลงที่ดินสาธารณประโยชน์ แต่การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน อ้างว่าที่ดินสาธารณประโยชน์มีการเลิกใช้ประโยซน์เมื่อ 40 ปีที่แล้ว เมื่อนิคมอุตสาหกรรมมาซื้อที่ดินใกล้บริเวณดังกล่าว มีที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่กลางที่เอกชนไม่มีการใช้ประโยชน์นานจึงมีสภาพตื้นเขิน บริษัท นิคมอุตสาหกรรม นวนคร จำกัด และบริษัท แคนนอน จำกัด โดยความยินยอมของประชาชนในสมัยนั้น ยินยอมให้พัฒนาเป็นคูคลองสวยงามสะอาดตาและมีสภาพคลองสาธารณประโยชน์ ไม่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมนั้น หากข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติตามที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน รายงานมาเช่นนี้ เหตุใดผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน จึงไม่ดำเนินคดีกับทั้งสองบริษัท ในข้อหาบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์หรือครอบครองที่ดินสาธารณะประโยชน์ไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องในทันที
เพราะที่ดินดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ตั้งแต่สมัยปู ย่า ตา ยาย สำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ใดจะยึดถือครอบครองเพื่อประโยชน์แต่เฉพาะตนนั้นไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามที่ระเบียบและกฎหมายกำหนดไว้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดและได้รับโทษตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่าเมื่อประมาณต้นปี 2565 ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ภายในโครงการดังกล่าวแล้วเห็นว่ามีการนำที่ดินสาธารณประโยชน์ไปใช้โดยมิชอบ
ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คนย่อมมีหน้าที่ในการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในทันที แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน กลับละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จึงไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามหน้าที่และอำนาจของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 4 คน และเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงโดยทำรายงานการตรวจสอบพื้นที่อันเป็นเท็จ การกระทำดังกล่าวจึงเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนรับแจ้งเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป.-สำนักข่าวไทย