19 พ.ค. – 4 ป. มั่นใจส่วยบ่อนไก่แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ มีข้าราชการระดับจังหวัดเกี่ยวข้องด้วย เตรียมสืบสวนขยายผล จ่อออกหมายจับ
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป., นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช., นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. และ น.ส.สุปราณี สถิตชัยเจริญ รองโฆษก ปปง. ร่วมแถลงข่าวจับกุมนายอำเภอแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับ หรือยอมรับทรัพย์ หรือประโยชน์อื่นใด โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 และข้อหา เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 โดยจับกุมได้ที่อาคารที่ว่าการอำเภอแม่วงก์ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา หลังได้รับการร้องเรียนจากเจ้าของบ่อนไก่ชน ในพื้นที่ อ.แม่วงก์ ว่าถูกนายอำเภอคนดังกล่าว กดดันบังให้จ่ายส่วยเดือนละ 3,000 บาท และบังคับให้จ่ายเงินล่วงหน้าอีก 3 เดือน รวม 4 เดือน รวมเป็นเงิน 12,000 บาท อ้างว่าเป็นค่าทำเนียมการเปิดบ่อนไก่ชน หากไม่ยอมจ่ายจะต้องเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งที่ก่อนหน้านี้ผู้เสียหายจ่ายไปแล้ว 3 เดือน เป็นเงิน 9,000 บาท ซึ่งอ้างว่าจะนำเงินจำนวนนี้ไปปรับปรุงสนามหญ้าหน้าที่ว่าการอำเภอ
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ระบุว่า ในพื้นที่อำเภอแม่วงก์ มีบ่อนไก่ชนทั้งสิ้น 17 แห่ง ผู้เสียหายเป็นหนึ่งในทั้งหมดที่รับความกดดันไม่ไหว โดยผู้เสียหายระบุว่า บ่อนไก่ชนขาดทุนมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว แต่ต้องหาเงินมาจ่ายส่วยเพื่อเลี้ยงใบอนุญาต เดือนละ 3,000 บาท หนำซ้ำยังต้องจ่ายเงินล่วงหน้า อีกกว่าหมื่นบาท จึงสู้ไม่ไหวอีกต่อไป เหมือนถูกบังคับขูดรีด ทั้งที่ในแต่ละเดือนต้องจ่ายค่าใบอนุญาตถูกกฎหมายไปแล้ว อีกทั้งยังถูกข้าราชการระดับจังหวัดกดดันให้จ่ายอีกด้วย
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ระบุอีกว่า เบื้องต้นผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธ โดยอ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นเพียงค่าทำเนียมที่ทางบ่อนไก่ชนจะต้องจ่าย แต่จากการตรวจสอบของ ปปป. พบว่า ค่าทำเนียมดังกล่าวไม่มีการออกใบเสร็จให้กับผู้เสียหาย ดังนั้นการกระทำของนายอำเภอคนนี้จึงเข้าข่ายความผิดในข้างต้น รวมแล้ว 2 กรรม ต่างกรรมต่างวาระ ครั้งแรกคือการเรียกรับเงินจำนวน 3,000 บาท เป็นเวลา 4 เดือน แต่ผู้เสียหายมีจ่ายเพียง 3 เดือน เป็นเงิน 9,000 บาท จึงค้างจ่ายอีก 1 เดือน ปรากฏว่านายอำเภอคนนี้ได้โทรศัพท์กดดันให้ผู้เสียหายนำเงินมาจ่ายจาก 1 เดือน ที่ติดค้าง มาจ่ายพร้อมเรียกรับเงินค่าทำเนียมล่วงหน้าอีก 3 เดือน รวมเป็น 4 เดือน วงเงิน 12,000 บาท ผู้เสียหายจึงสุดร้องเรียน ปปท.ให้เข้าดำเนินการ ก่อนที่จะถูกซ้อนแผน โดยการให้ผู้เสียหายนำเงินไปจ่ายและถ่ายสำเนาแบงก์เอาไว้เป็นหลักฐาน จนเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าสังเกตการณ์โดยรอบ เข้าจับได้คาห้องทำงาน พร้อมของกลางเงินสด 12,000 บาท อยู่ในกระเป๋ากางเกงของนายอำเภอ เมื่อนำมาเปรียบเทียบก็พบว่าตัวเลขธนบัตรตรงกันทุกฉบับ จึงคุมตัวพร้อมแจ้งข้อกล่าวหา และนำตัวมาสอบปากคำที่ บก.ปปป.
ด้านนายศรชัย กล่าวว่า หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ ปปป. ต้องทำการสืบสวนสอบสวนขยายผล โดยมีกรอบระยะเวลา 30 วัน ซึ่งตนเชื่อว่า การขยายผลครั้งนี้ อาจมีการออกหมายจับข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย เพราะผู้เสียหายยืนยันว่านอกจากนายอำเภอแล้วยังมีข้าราชการระดับจังหวัดกดดันให้จ่ายเงินด้วย
นายภูมิวิศาล ระบุว่า หลังจากนี้หน่วยงาน 4 ป. จะบูรณาการร่วมกันเพื่อตรวจสอบข้าราชการผู้มีอำนาจ มีการใช้อำนาจในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทำให้ภาพลักษณ์ข้าราชการเสียหาย หากพบการกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด. -สำนักข่าวไทย