สำนักข่าวไทย 11 ต.ค.-เครือข่ายนักวิชาการห่วงเด็กใช้สื่อออนไลน์ เพื่อความเสี่ยงมากขึ้น 40% พบเด็กมัธยมถูกจีบทางออนไลน์จนไปถึงการโชว์ภาพอนาจาร พร้อมเผยขั้นตอนการล่อลวงเด็ก เริ่มตั้งแต่สร้างความไว้วางใจ ทำให้เป็นคนพิเศษ แยกจากผู้ปกครอง และล่วงละเมิด
ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวว่า ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ ปี 2565 ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 ในกลุ่มตัวอย่างอายุ 9-18 ปี จำนวน 31,965 คน พบว่า เด็ก 81% มีแท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเอง 64% มีอินเทอร์เน็ตที่บ้าน 85% ใช้โซเชียลมีเดียทุกวันหรือเกือบทุกวัน โดยการมีสมาร์ตโฟนเป็นของตัวเองและใช้สื่อโซเชียลมีเดียหรือเล่นเกมอย่างหนัก อาจเพิ่มความเสี่ยงภัยออนไลน์มากขึ้นถึง 40% ตามที่ DQ Institute ระบุไว้ใน COSI report 2020 มีข้อมูลน่าตกใจว่าเด็ก 36% มีประสบการณ์ถูกจีบในโลกออนไลน์ ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม คนร้ายอาจพยายามทำให้เด็กเชื่อว่าตกหลุมรัก อยากคบหาเป็นแฟน ขอภาพลับ นัดพบ ละเมิดทางเพศ และถ่ายรูปข่มขู่แบล็กเมล ซึ่งเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมการเข้าหาเด็กเพื่อละเมิดทางเพศ (Grooming) ที่ผู้ปกครองและทุกฝ่ายต้องระวัง
การสำรวจชี้ให้เห็นว่าเด็กประถมปลายอายุประมาณ 10 ขวบ ถูกกรูม (groom) ถึง 12 %, เด็ก 54% เคยพบเห็นสื่อลามกอนาจาร และในจำนวนนี้ 60% เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก, เด็ก 7% เซฟเก็บไว้ ซึ่งเพศชายทำมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า การครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และเด็ก 4% ยังระบุว่าเคยถ่ายภาพ หรือ live โชว์ลามกอนาจารอีกด้วย
ดร.ศรีดา กล่าวว่า ยังพบว่ามีเด็ก 11% ถูกคุกคามทางเพศ เช่น โดนคอมเม้นท์เรื่องรูปร่างหน้าตา ขนาดของหน้าอกหรืออวัยวะเพศ ถูกขอให้พูดคุยเรื่องเพศ รับ-ส่งภาพหน้าอกหรืออวัยวะเพศ, เด็ก 15% เคยทำ sex video call ซึ่งเด็ก ป.4-6 จำนวน 4% ระบุเคยถูกคุกคามทางเพศ และ 7% เคยแลกกล้องโชว์สยิว จึงเป็นที่น่าห่วงใยว่าเด็กอาจถูกอัดคลิปแล้วนำไปแบล็กเมลรีดทรัพย์หรือนัดพบละเมิดเพิ่มเติม จนนำไปสู่ปัญหาซึมเศร้าและอาจถึงฆ่าตัวตายในที่สุด นอกจากนี้ จากการสำรวจนี้ยังพบเด็ก 26% ถูกกลั่นแกล้งรังแกออนไลน์ (cyber bullying) 11% เคยเข้าเว็บไซต์ผิดกฎหมาย/อันตราย 7% เล่นพนันออนไลน์ 18% จ่ายเงินเพื่อซื้อกล่องสุ่มในเกม (Loot Box, Gift Box, Lucky Box) ซึ่งถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการพนัน และมี 5% เคยลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล หรือคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เด็กยังประสบปัญหาภัยออนไลน์อื่น ๆ ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เช่น เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกติดตามคุกคาม หลอกให้ลงทุนผลตอบแทนสูง หรือโดนโกงซื้อสินค้า ฯลฯ ซึ่งมูลนิธิอินเทอร์เน็ตฯ ได้รวบรวมสถิติข้อมูลและคำแนะนำไว้ในเอกสาร “แนวทางปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ 2565” เผยแพร่ทั้งในรูปแบบของสิ่งพิมพ์และดาวน์โหลดทางอินเทอร์เน็ต
ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ประธานกรรมการมูลนิธิศานติวัฒนธรรม นักจิตวิทยาคลินิก กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนในการล่อลองเด็กทางออนไลน์ พบว่าจะมีพฤติกรรมเลือกเหยื่อในกลุ่มเด็กขาดแคลนทั้งวัตถุตอบสนองและความรัก จากนั้นสร้างความไว้วางใจ ตอบสนองความต้องการ และเข้าสู่กระบวนการสร้างความพิเศษ เกิดความลับที่ไม่บอกใคร จากนั้นแยกเด็กออกจากครอบครัวผู้ปกครอง อ้างดูแลได้ดีกว่าครอบครัว เมื่อเด็กอยู่ลำพังก็เข้าสู่กระบวนการสัมผัสใกล้ชิด แสดงออกทางจนเด็กคุ้นเคย และเข้าสู่การล่วงละเมิดทางเพศ และอาจมีการถ่ายวิดิโอเก็บไว้ เพื่อใช้ในการควบคุมเด็กในอนาคต
พล.ต.อ.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำงานในคดีล่วงเมิดทางเพศผ่านภัยออนไลน์ พบมากสุดคือการถูกหลอกให้ไปเป็นดารานางแบบ ด้วยการส่งภาพลับเห็นทรวดทรง และนำไปแบล็คเมล์สู่การล่วงละเมิดทางเพศ นอกจากนี้ ยังมีการนำภาพลับส่วนตัวแลกเงิน โดยเฉพาะเด็กต่ำกว่า 10 ปี จะถูกหลอกได้ง่าย จากนั้นก็จะถูกข่มขู่เพื่อล่วงละเมิดทางเพศ รวมทั้งยังมีการนำภาพส่วนตัวที่มีกิจกรรมทางเพศกับแฟน และตัวแฟนนำไปเผยแพร่ หรือแม้แต่ซ่างซ่อมโทรศัพท์ที่กู้ภาพลับลูกค้ามาเผยแพร่.-สำนักข่าวไทย