ซีเนียร์คอมเชื่อถึงยุคอุตฯรถยนต์ปรับระบบไอทีรอบใหม่

กรุงเทพฯ 14 ธ.ค. ซีเนียร์คอมแนะค่ายผู้ผลิตรถยนต์ ทุกค่ายต้องเตรียมยกแผงระบบบริการหลังการขายเข้าสู่ระบบดิจิทัลยุคใหม่ เหตุระบบเดิมล้าสมัยอย่างหนักและสร้างปัญหาให้บริการลูกค้า เชื่อรายใดไม่ปรับถึงขั้นล่มสลาย นายสมเกียรติ อึงอารี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเนียร์คอม ที่ปรึกษาในการว่งระบบคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า วงการรถยนต์กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลง หรือการเปลี่ยนผ่าน จากระบบดิจิทัลแบบเก่าเข้าสู่ระบบใหม่ภายใน 2 ปีนี้ ที่ผ่านมาค่ายผู้ผลิตรถยนต์มุ่งเน้นแต่การพัฒนากระบวนการผลิต มุ่งสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 นำหุ่นยนต์ทันสมัยมาช่วยผลิต เพื่อลดต้นทุน และสร้างรถยนต์สมัยใหม่รองรับความต้องการที่มากขึ้นของลูกค้า แต่ขณะเดียวกันกับละเลยการบริการหลังการขายที่ขณะนี้ยังเป็นเทคโนโลยีเก่า มีความซับซ้อน และการเข้าถึงข้อมูลของลูกค้ายังยาก ทำให้การสร้างประสบการณ์แบบใหม่ที่ลูกค้าหรือผู้ใช้รถยนต์เข้ามามีส่วนร่วมมีน้อยเกินไป “ระบบดูแลหลังการขายของค่ายรถยนต์บางส่วนยังเป็นระบบที่เก่ามากอย่าง Client Server ศูนย์รถยนต์แต่ละแห่งต้องลงทุนจำนวนมาก แต่กลับได้ระบบที่ล้าสมัย อย่างไรก็ตามศูนย์ฯไม่สามารถปฏิเสธระบบนี้ได้ เพราะผู้ผลิตรถยนต์ยังบังคับให้ใช้ระบบเดียวกันมาตลอด หรือบางค่ายรถยนต์สร้างโมดูลซอฟต์แวร์การบริการจากหลากหลายผู้ผลิตซอฟต์แวร์ทำให้การทำงานเชื่อมต่อเกิดปัญหาในการใช้งานจริงมากมาย ทำให้ศูนย์ฯต่างๆ กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในช่วงที่ผ่านมา” นายสมเกียรติกล่าว การดูแลหลังการขายที่ขาดการนำระบบทันสมัยมาใช้งาน แต่วงการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในประเทศไทยกลับมาความก้าวหน้าอย่างสูง บริษัทลีสซิ่งจำนวนมากได้ใช้ความสามารถใหม่ของระบบ e-banking จนทำให้เห็นชัดเจนว่าถ้าบริษัทใดไม่มีการปรับตัวไม่นำระบบดิจิทัลใหม่ๆ มาใช้ จะทำให้ธุรกิจนี้อาจล้มเลิกกิจการไปได้ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของระบบการดูแลลูกค้าผู้ซื้อรถยนต์หลังการขายจะมีการเปลี่ยนแปลงภายใน2 ปีนี้แน่นอน และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น เพราะการแข่งขันจะสูงมากขึ้นขณะที่ผู้ซื้อจะเรียกร้องและต่อต้านการเป็นเสือนอนกินของค่ายรถยนต์อย่างเช่นที่ผ่านมา ผู้ซื้อจะคำนึงถึงคุณภาพการผลิตและการบริการหลังการขายที่เป็นระบบดิจิทัลสมัยใหม่ในสัดส่วนร้อยละ 50-50 ดังนั้นกระบวนการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมปลายทางของธุรกิจรถยนต์ทั้งระบบในไม่ช้า ซีเนียร์คอมที่พัฒนาซอฟต์แวร์ในกลุ่มรถยนต์มากว่า 20 ปี และได้คาดการณ์แนวโน้มเทคโนโลยีในกลุ่มนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบ Dealer Shop ที่มีศูนย์บริการรถยนต์ในปัจจุบันใช้อยู่ถึงร้อยละ 30 ในประเทศไทย ได้มีการทุ่มทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนาในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อยกระดับซอฟต์แวร์กลุ่มนี้เข้าสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และระบบ Machine Learning ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นการเป็นคู่ค้าทางความคิดร่วมกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์ แตกต่างจากเดิมคือการทำซอฟต์แวร์ตามสั่ง ที่สำคัญจะเพิ่ม UX ใหม่ ที่จะทำให้ผู้ใช้เกิดประสบการณ์ที่ประทับใจ และสามารถเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ โดยใช้งบประมาณวิจัยกว่า 30 ล้านบาท และจะวิจัยต่อเนื่องไปอีก 5 ปีเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงใหญ่ครั้งนี้ “การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ขึ้นกับการตัดสินใจของค่ายผู้ผลิตรถยนต์เป็นหลัก ขณะนี้เทคโนโลยีพร้อม โครงสร้างพื้นฐานเหมาะสม และใช้งบประมาณไม่สูงมากเหมือนในอดีต เชื่อว่าหากค่ายผู้ผลิตรถยนต์ที่ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงล่าช้าจะเสียเปรียบการแข่งขันในตลาดอย่างแน่นอน” นายสมเกียรติกล่าวสรุป-สำนักข่าวไทย.

กูเกิลเผยคำค้นหายอดนิยม 2020

กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. -กูเกิลประกาศคำค้นหายอดนิยมประจำปี 2563 โดยแสดงให้เห็นถึงภาพรวมของทั้งปีที่ผ่านมา  สถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการดำเนินธุรกิจของประชาชนทั้งประเทศ ส่งผลให้คนไทยตอบรับกับโครงการที่รัฐบาลมีนโยบายออกมาช่วยเยียวยาประชาชนทั้งเพื่อลดรายจ่ายและช่วยฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ 5 ใน 10 ของคำค้นหายอดนิยมปีนี้มาจากโครงการของรัฐบาล ได้แก่ “เราไม่ทิ้งกัน” “คนละครึ่ง” “เยียวยาเกษตรกร” “เราเที่ยวด้วยกัน” และ “ลงทะเบียนรับเงินค่าไฟ”   ตลอดปีนี้ผู้คนยังคงให้ความสนใจค้นหาข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดย “โควิด-19” ติดอันดับ3 และนับเป็นครั้งแรกที่การค้นหาด้านการศึกษาติดอันดับ 2 ใน 10 ได้แก่ “DLTV” และ “สมัครสอบ ก.พ.” ส่วนการค้นหาข่าวการเมืองที่ทั่วโลกต่างจับตามอง โดย “US Election 2020” ก็ติดอยู่ในโผคำค้นหายอดนิยมด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมความสนใจค้นหาของผู้คนในการทำกิจกรรมผ่านออนไลน์เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ได้อย่างชัดเจน โดย “เรียนออนไลน์” “ลอยกระทงออนไลน์” “ยื่นภาษีออนไลน์” “เวียนเทียนออนไลน์” และ “อบรมใบขับขี่ออนไลน์” ติดโผอันดับ  1 -5 ตามลำดับ   ด้านข่าวเด่นในปีนี้ ผู้คนให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นค่อนข้างหลากหลาย โดยการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดและสุขภาพติดอันดับ 1 คือ “โควิค-19” ด้าน “ไวรัส RSV” ติดอันดับที่ 4 ส่วนข่าวด้านการเมืองระดับโลกติดอันดับที่ 2 คือ “US Election 2020” ด้านข่าวคดีสะเทือนขวัญและอุบัติเหตุที่คนไทยทั้งประเทศให้ความสนใจติดตามค้นหาติดอันดับ 4 ใน 10 ได้แก่ “ข่าวน้องชมพู่” “กราดยิงโคราช” “โจรปล้นทอง” และ “รถไฟชนรถบัส” รวมทั้ง ข่าวปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ได้แก่ “สุริยุปราคา 2563” และข่าวภัยธรรมชาติ “พายุเข้าไทย” ก็ติดอันดับในปีนี้ด้วยเช่นกัน ด้านหมวดสถานที่ท่องเที่ยว เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้คนต้องระงับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงปีนี้ ส่งผลให้คนไทยหันมาสนใจค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศที่มีบรรยากาศของความเป็นธรรมชาติเป็นภูเขาและมีอากาศที่เย็นสบายแทน ได้แก่ “เชียงใหม่” “เชียงราย” “เขาค้อ” และ “กาญจนบุรี” ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวที่มีบรรยากาศแบบทะเลและชายหาดที่สวยงามที่ติดโผในปีนี้ ได้แก่ “สุราษฎร์ธานี” “พัทยา” “หัวหิน” “ประจวบคีรีขันธ์” “ระนอง” และ “ระยอง”  ส่วนในหมวด “วิธี” ปีนี้ คนไทยให้ความสนใจค้นหาวิธีต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการดำรงชีวิตในยุคนิวนอร์มอลและเพื่อรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยมี “วิธีใช้คนละครึ่ง” ติดโผอันดับ 1 ส่วน “วิธีลงทะเบียนค่าไฟ” “วิธีทำหน้ากากอนามัย” “วิธีทำเจลล้างมือ” “วิธีลงทะเบียนรับเงิน 5,000” “วิธีลงทะเบียนเยียวยาเกษตรกร” และ “วิธีแก้เครียด” ก็ติดโผอันดับที่ 2-7 เช่นกัน-สำนักข่าวไทย.

กทปส.เปิดงบปี64ที่1.1พันล้านบาทมุ่งลุยวิจัย5G

กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. กทปส. เผยงบฯ วิจัย ปี 64 แตะ 1.1 พันล้านบาท ลุยงานวิจัย 5G เต็มสูบ เล็งผลักดัน “ดิจิทัลอีโคซิสเต็ม – วิทยุดิจิทัล” สร้างประโยชน์สาธารณะ นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กล่าวว่า กรอบวงเงินการจัดสรรเงินจากกองทุน ประจำปี 2564 ภายใต้กรอบวงเงิน 1,100 ล้านบาท มีเงื่อนไขการอนุมัติงบฯ จากการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G โครงข่ายไร้สายประสิทธิภาพสูง สู่การพัฒนางานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนใน 3 กลุ่มสำคัญ ดังนี้ ‘กิจการโทรคมนาคม’ การสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศดิจิทัล (Digital Ecosystem) ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อสร้างความรู้ พร้อมปั้นบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้าน 5G ‘กิจการกระจายเสียง/โทรทัศน์’ การพัฒนาระบบวิทยุดิจิทัล และเทคโนโลยี 4K 8K ในกิจการโทรทัศน์ และ ‘คุ้มครองผู้บริโภค’ การสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงระบบการสื่อสารต่าง ๆ ในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส   นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า สำหรับวงเงินดังกล่าวที่ กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรนั้น แบ่งออกเป็นประเภททุนต่าง ๆ โดยมีรายละเอียด คือ ทุนประเภทที่ 1 ทุนเปิดกว้าง (Open Grant) โครงการที่เกิดจากผู้ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงิน กทปส.  ภายใต้วงเงิน 400 ล้านบาท โดยจะเปิดให้ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม – 5 เมษายน 2564 ทุนประเภทที่ 2 ทุนที่คณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ประกาศกำหนด โดยแบ่งการสนับสนุนออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ ทุนตามนโยบายของคณะกรรมการบริหารกองทุน และ ทุนต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมวงเงิน 700 ล้านบาท ในปี 2563 กทปส. ได้ดำเนินการจัดสรรงบฯ 2,900 ล้านบาท ผลักดันโครงการต่าง ๆ ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญดังนี้ 1. ด้านบริการเพื่อสังคม (USO) การดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง 2. ด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) การศึกษาวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร 3. ด้านพัฒนาศักยภาพบุคลากร (HRD) การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และ 4. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Protection) ครอบคลุมด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อาทิ ‘มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์’ (μTherm-FaceSense) นวัตกรรมตรวจวัดอุณหภูมิสัญชาติไทย ที่แม่นยำเทียบเท่าต่างชาติ ‘ศูนย์เรียนรู้เทคโนโลยีวีอาร์’ (VR) การพัฒนาศูนย์เรียนรู้และหลักสูตรเทคโนโลยีเสมือน หนุนปั้นบุคลากรรับเทรนด์ดิจิทัล โครงการพัฒนา ‘คลาวด์ แอนด์ เอดจ์ คอมพิวติ้ง’ (Cloud & Edge Computing) สำหรับภาคอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล ฯลฯ-สำนักข่าวไทย.

การ์มินเปิดสำนักงานสาขาในไทยรับเทรนด์สุขภาพ

กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. การ์มินประกาศตั้งสำนักงานในประเทศไทย เสริมแกร่งแบรนด์ในภูมิภาคอาเซียน การ์มิน (เอเชีย) คอร์ปอเรชั่น ประกาศการ์มินจะขยายธุรกิจในเอเชียด้วยการเปิดสำนักงานสาขาใหม่ที่ประเทศไทยในกรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่ไตรมาสแรกปี 2564 นี้ เพื่อการให้บริการที่ครอบคลุมครบวงจร ทั้งสินค้าและบริการต่าง ๆ สำหรับลูกค้าไทย การ์มินได้เข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2543 โดยมีสมาร์ทวอทช์รุ่นเรือธงอย่าง Forerunner, fenix ผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ที่สนใจกีฬาและการออกกำลังกาย (ฟิตเนส) รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ล่าสุดอย่าง Venu และ Instinct ที่ออกแบบเพื่อผู้ใช้ที่ชอบกิจกรรมแอ็กทีฟ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากผู้บริโภคในตลาดประเทศไทย นับตั้งแต่การ์มินก่อตั้งขึ้นในปี 2532 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การ์มินได้ลงทุนด้านนวัตกรรม วิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง การขยายธุรกิจของการ์มินล่าสุดแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแบรนด์กับตลาดในประเทศไทยซึ่งมีประชากร 70 ล้านคนนับเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยการ์มินมั่นใจว่าการวางโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ และการสนับสนุนจากพันธมิตร โดยเฉพาะจาก บริษัท จีไอเอส จำกัด บริษัทในกลุ่มบริษัทซีดีจี จะช่วยให้บริการเข้าถึงลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถขับเคลื่อนแบรนด์ให้เติบโตเพิ่มขึ้น บริษัท จีไอเอส จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายการ์มินในประเทศไทยอย่างเป็นทางการตลอด 20 ปีที่ผ่านมานับเป็นกำลังหลักสำคัญในการขยายและสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์การ์มินในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ และการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดรวมไปถึงการสนับสนุนในอนาคต ของบริษัท จีไอเอส จำกัด ส่งผลให้แบรนด์การ์มินกลายเป็นผู้เล่นที่แข็งแกร่งในตลาดสมาร์ทวอทช์ของประเทศไทย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น และยังมีความต้องการในการจัดการด้านสุขภาพของตนเองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คาดว่าภายในสิ้นปี 2563 รายได้ของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มกอล์ฟ และการดำน้ำของการ์มิน ในตลาดประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยจะมีอัตราการเติบโตถึง 130% ยิ่งไปกว่านั้นสมาร์ทวอทช์ Venu Sq ที่เพิ่งเปิดตัวในไตรมาสที่ 4 ปี 2563 ที่ได้รับความนิยมอย่างมากส่งผลให้สินค้าในกลุ่มฟิตเนสเติบโตมากกว่า 20% อีกด้วย ความต้องการสมาร์ทวอทช์ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การขยายตัวของแบรนด์ต้องก้าวสูงขึ้น โดยการ์มินได้ตั้งทีมการตลาด ทีมขาย ทีมบริการลูกค้าและบริการหลังการขาย เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าที่สมบูรณ์แบบทั้งก่อนและหลังการขาย ช่วยอำนวยความสะดวกสูงสุดแก่ผู้บริโภค โดยการ์มินจะมีบริการรับสินค้าถึงหน้าบ้านแบบ door-to-door (D2D) พร้อมบริการหลังการขายสำหรับผลิตภัณฑ์การ์มิน โดยจะเริ่มบริการดังกล่าวในไตรมาสแรกของปี 2564 นี้ ด้วยร้านค้ากว่า 5,000 แห่งและร้านขายตรงมากกว่า 100 แห่งทั่วโลก การ์มินยังคงให้ความสำคัญกับนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนานับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2543 เพื่อมุ่งผลิตผลิตภัณฑ์ล้ำสมัยที่สร้างความแตกต่างในชีวิตประจำวันรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับอากาศยาน การเดินเรือ กิจกรรมกลางแจ้ง ผลิตภัณฑ์ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) และยานยนต์-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสแจงดำเนินคดี496ยูอาร์แอลโพสต์ข้อความผิดกฎหมาย

กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. ดีอีเอส ยื่นดำเนินคดี 496 ยูอาร์แอลโพสต์ละเมิดผิดกฎหมาย นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า จากความร่วมมือระหว่างกระทรวงฯ กองป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ปท.) กองกฎหมาย ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ได้ร่วมกันตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดบนสื่อสังคมออนไลน์ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 13 ต.ค. – 4 ธ.ค. 63 ได้รวบรวมหลักฐานและดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด ทั้งสิ้น 496 ยูอาร์แอล แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 284 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 81 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 130 ยูอาร์แอล และอื่นๆ 1 ยูอาร์แอล ในส่วนนี้ ได้ดำเนินการพิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลแล้ว จำนวน 19 บัญชี แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 15 ราย และ ทวิตเตอร์ 4 ราย ส่งให้ บก.ปอท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ส่วนการดำเนินการของเพจอาสา จับตา ออนไลน์ ในเดือน พ.ย. 63 ได้รับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดกฎหมายจากประชาชน จำนวนทั้งสิ้น 11,914 ยูอาร์แอล จากการตรวจสอบ พบว่า มีจำนวนที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย 826 ยูอาร์แอล แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 357 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 231 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 160 ยูอาร์แอล, Tiktok 4 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 74 ยูอาร์แอล โดยศาลมีคำสั่งแล้วจำนวน 765 ยูอาร์แอล และอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 61 ยูอาร์แอล รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ต่อผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (แพลตฟอร์ม) ที่ไม่ดำเนินการปิด/ลบเนื้อหาผิดกฎหมายภายใน 15 วันตามที่มีการส่งหนังสือไปแจ้งเตือนให้ดำเนินการ โดยในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา มีการดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปแล้ว 2 ชุด และภายในสัปดาห์นี้จะมีการทำหนังสือแจ้งเตือนไปอีก 1 ชุด โดยเมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนชุดที่ 5 และครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 63 จำนวน 718 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก  487 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 98 ยูอาร์แอล คงเหลือ 389 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 137 ยูอาร์แอล ปิดแล้วทั้งหมด, ทวิตเตอร์ 81 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 8 ยูอาร์แอล คงเหลือ 73 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 13 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 6 ยูอาร์แอล คงเหลือ 7 ยูอาร์แอล โดยในชุดที่ 5 นี้ อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบมอบหมายผู้ แทนร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 27 ต่อ ปอท. ต่อไป สำหรับชุดที่ 6 ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 และครบกำหนด 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 312 รายการแบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 167 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว  49 ยูอาร์แอล คงเหลือ 118 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 111 ยูอาร์แอล ปิดแล้วทั้งหมด, ทวิตเตอร์ 28 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 5 ยูอาร์แอล คงเหลือ 23 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 6 ยูอาร์แอลปิดแล้ว 1 ยูอาร์แอลคงเหลือ 5 ยูอาร์แอล จากนี้เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอความเห็นชอบร้องทุกข์กล่าวโทษตามมาตรา 27 กับเจ้าของแพลตฟอร์มที่ไม่ดำเนินการตามคำสั่งศาลต่อไป “ภายในสัปดาห์นี้ เตรียมทำหนังสือแจ้งเตือนต่อแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นชุดที่ 7 จำนวน 607 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก331 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 22 ยูอาร์แอล คงเหลือ 309 ยูอาร์แอล, ยูทูบ 144 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 65 ยูอาร์แอล คงเหลือ 79 ยูอาร์แอล, ทวิตเตอร์ 128 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว  6 ยูอาร์แอล 122 ยูอาร์แอล และเว็บไซต์/อื่นๆ 4 ยูอาร์แอล ปิดแล้ว 2 ยูอาร์แอล คงเหลือ 2 ยูอาร์แอลทั้งนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นบัญชีจริงหรืออวตาร เจ้าหน้าที่สามารถพิสูจน์ทราบตัวตนบุคคลได้ การโพสต์ใดๆ ควรเป็นไปอย่างมีวิจารณญาณสร้างสรรค์และเคารพกฎหมาย”นายพุทธิพงษ์กล่าว-สำนักข่าวไทย.

ทวิตเตอร์เทรนด์ปี 2020 สร้างการเชื่อมโยงเกิดชุมชนใหม่ช่วยเหลือกันมากขึ้น

กรุงเทพฯ 8ธ.ค. ทวิตเตอร์ สรุปภาพรวมการใช้งานในปี 2020 ปีแห่งความท้าทาย ดึงชาวทวิตภพใกล้ชิดกันมากขึ้น สร้างปรากฎการณ์ทวีตเพื่อเชื่อมโยง สร้างชุมชนใหม่ และช่วยเหลือกัน นายอาร์วินเดอร์ กุจรัล กรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ กล่าวว่า ปีนี้ผู้คนใช้งานทวิตเตอร์ไม่ใช่แค่เพียงเข้ามาอัปเดตว่าตอนนี้มีอะไรเกิดขึ้นทั่วโลกเท่านั้น แต่เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกันเพราะว่าต้องอยู่ห่างกัน สถานการณ์ที่ท้าทายในปี 2563 นี้ได้แสดงถึงบทบาทของทวิตเตอร์ในการขับเคลื่อนการสนทนาแบบเรียลไทม์และช่วยให้ผู้คนเกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน คนไทยที่ใช้ทวิตเตอร์มีความผูกพันต่อกัน บทสนทนากับผู้คนใหม่ๆ หลากหลายมากขึ้นและเกิดหัวข้อการสนทนาใหม่ๆ ทำให้การสนทนาบนทวิตเตอร์เป็นการเชื่อมต่อและเป็นบทสนทนาระหว่างกันอย่างแท้จริงในขณะที่เรากำลังก้าวเข้าสู่ปีใหม่ ปี 2564 เราสามารถเห็นได้ชัดว่าทวิตเตอร์คือสถานที่เพียงแห่งเดียวที่มีความคึกคักสนุกสนานและน่าสนใจที่สุด และยังมีการเกิดโมเม้นต์ทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเราก็หวังว่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกในอนาคต แม้ว่าในปี 2563 ชีวิตของทุกคนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่คาดคิด ไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือเรียนจากที่บ้าน รวมทั้งการรักษาระยะห่างทางสังคม ผู้คนต่างมองหาสถานที่ซึ่งจะเป็นที่ไหนก็ได้ที่ทำให้พวกเขาเกิดความสบายใจ ผู้คนต่างเข้ามาใช้ทวิตเตอร์เพื่อเชื่อมโยงถึงกัน อยู่ด้วยกันและให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ปี 2563 จึงนับเป็นปีที่ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่สัมผัสได้จริงยิ่งกว่าเดิม ผู้คนต่างใช้ทวิตเตอร์เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงโลก ช่วยเหลือผู้อื่น ให้กำลังใจกัน เป็นแรงบันดาลใจให้กันหรือแม้แต่การสร้างเสียงหัวเราะ ตลอดจนการใช้ทวิตเตอร์เพื่อโปรโมตธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นายอาร์วินเดอร์ กล่าวอีกว่า ผู้คนที่เข้ามาใช้ทวิตเตอร์นั้นเพราะต้องการเชื่อมโยงระหว่างกันได้อยู่ด้วยกันและให้กำลังใจกันและกัน ปีนี้การได้พบปะพูดคุยกันกลายเป็นเรื่องยาก ดังนั้นทวิตเตอร์จึงช่วยให้ผู้คนสามารถมารวมตัวอยู่ด้วยกันผ่านการพูดคุยที่มีความสนุกสนานและเชื่อมโยงความสนใจต่อเรื่องต่างๆ ที่ผู้คนชื่นชอบ และเรายังได้เห็นหลายคนใช้ทวิตเตอร์ในการช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย นอกจากนี้ คนไทยยังไม่เคยขาดอารมณ์ขันและความสนุก โดยจะชอบทวีตข้อความด้วยการใช้อิโมจิที่แสดงถึงความสุข เสียงหัวเราะ และความรักต่อกันอย่างต่อเนื่อง บทสนทนาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกม (#เกมดีบอกต่อ), ไปจนถึงการรีวิวอาหาร (#อร่อยไปแดก), การทำอาหาร (#ทำอาหาร),#ชุมชนนักสร้างสรรค์ และอีกมากมาย ชุมชนต่างๆ บนทวิตเตอร์ทำให้คนไทยได้เชื่อมโยงและพูดคุยกัน ส่วนบทสนทนาที่เกี่ยวกับวงการบันเทิงและ K-Pop ยังคงเป็นหัวข้อยอดนิยม นอกจากนี้คนไทยเข้ามาใช้ทวิตเตอร์เพื่อสนทนาเรื่องสำคัญและการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เกี่ยวกับการสมรสเท่าเทียม และเสียงสะท้อนของ LGBT เพิ่มมากขึ้น แต่ในช่วงครึ่งปีหลังมานี้เรื่องเกี่ยวกับการเมืองกลายเป็นหัวข้อบทสนทนาที่ได้รับความนิยมซึ่งมาพร้อมกับแฮชแท็กต่างๆ อย่าง#whatishappeninginthailand และ #หยุดคุกคามประชาชน ทวีตยอดนิยมในประเทศไทย มีบทสนทนาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญบนทวิตเตอร์ประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แม้จะเผชิญกับความท้าทายหลากหลายก็ตามแต่คนไทยยังแสดงออกผ่านความสนุกและแพสชั่น สำหรับทวีตที่มีคนกดไลค์มากที่สุดเป็นทวีตจากไบร์ท @bbrightvc ส่วนทวีตที่ได้รับการโควตทวีตมากที่สุด เป็นทวีตจาก @GMMTV และทวีตที่มีการรีทวีตมากที่สุดเป็นทวีตจากแบมแบม @BamBam1A แฮชแท็กที่มีการทวีตมากที่สุดในประเทศไทย แฮชแท็กกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังเพื่อทำให้ผู้คนและชุมชนต่างๆมารวมตัวกัน ขับเคลื่อนบทสนทนาและแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญ แฮชแท็กศิลปินที่มีการทวีตถึงมากที่สุดในปี 2563 คือ เป๊ก ผลิตโชค (#เป๊กผลิตโชค) ลิซ่า แบล็กพิงก์ (#lisa)  และ แบมแบม GOT7 (#bambam) โดยเทรนด์ใหม่ในปีนี้คือการเติบโตของบทสนทนาที่เกี่ยวกับนักแสดงซีรีส์วาย รวมถึงแฮชแท็กที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม นอกจากนี้ปี 2563 ยังเป็นปีที่มีข่าวใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายเรื่องบนทวิตเตอร์จนกลายเป็นข่าวดัง และข่าวที่อัปเดตสถานการณ์แบบเรียลไทม์ จึงไม่น่าแปลกใจหากว่า #โควิด19 จะเป็นแฮชแท็กที่มีคนทวีตถึงมากที่สุดเป็นอันดับ 7 ของแฮชแท็กที่มีการทวีตมากที่สุดในประเทศไทย ในปีนี้ #covid19 (และแฮชแท็กเรื่องเดียวกัน) คือแฮชแท็กที่ถูกทวีตทั่วโลกไปเกือบ 400 ล้านทวีต และเป็นแฮชแท็กที่ทำให้เราพูดถึงหัวข้ออื่นๆ เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  แอคเคาท์ที่คนทวีตถึงมากที่สุดในประเทศไทยในปีนี้มีการเติบโตทั้งการสนทนา ชุมชน และผู้คนที่หลากหลายมากขึ้นบนทวิตเตอร์ แอคเคาท์ที่มีการทวีตถึงมากที่สุดในปี้นี้แสดงให้เห็นว่าคนทั่วไปล้วนเป็นกระบอกเสียงบนทวิตเตอร์ โดยจาก 9 ใน 10 ของแอคเคาท์มีการทวีตถึงมากที่สุดเป็นแอคเคาท์ทั่วไปไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของฟอลโลเวอร์ แต่ขึ้นอยู่กับความเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ ที่ตรงกัน ทวิตเตอร์จึงเป็นสถานที่ที่ผู้คนสามารถเห็นบทสนทนาในทุกด้านและเชื่อมโยงระหว่างกันได้-สำนักข่าวไทย.

เฟซบุ๊กรายงานที่สุดแห่งปี 2020

กรุงเทพฯ 8 ธ.ค.- เฟชบุ๊กรายงาน “ที่สุดของปี 2020” โควิด-19 การชุมชนุม สิ่งแวดล้อม ติดอันดับเรื่องที่คนสนใจมากที่สุด เฟชบุ๊กผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียรายใหญ่ รายงานสรุป “ที่สุดของปี 2020” (2020 Year in Review) ที่แสดงให้เห็นว่าผู้คนได้ใช้งาน เฟชบุ๊ก เพื่อเชื่อมต่อถึงกันอย่างมีความหมายอย่างไรบ้าง โดยรายงานปีนี้ประกอบขึ้นจาก 20 เหตุการณ์สำคัญของปีที่จัดเรียงตามธีมของเนื้อหาหลักหกประเภท การตื่นตัวด้านสังคม ในปี 2020 นี้ เราเห็นถึงความตื่นตัวและการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่ส่งผลต่อผู้คนอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ชุมชนผู้ใช้งานทั่วโลกของเฟชบุ๊กได้ยกเรื่องที่สำคัญต่อพวกเขาขึ้นมาพูดคุย เช่นกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ เป็นต้น โดยสามสัปดาห์หลังจากที่เขาเสียชีวิต บทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อ Black Lives Matter นั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า หรือเฉลี่ยเป็นการพูดถึงบน Facebook ถึง 7.5 ล้านครั้งในทุกๆ วัน ไม่ว่าจะเป็นการนำหัวข้อ #whatshappeninginthailand มาใช้อย่างมีวัตถุประสงค์และสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คน หรือการพูดคุยแบบเรียลไทม์เกี่ยวกับเหตุการณ์น่าสลดใจที่เบรุต ล้วนแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้งานชาวไทยให้ความสนใจกับเรื่องทางสังคมและกล้าที่จะพูดถึงเรื่องเหล่านั้น  ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับชุมชน ผู้คนยังใช้ เฟชบุ๊กเพื่อช่วยเหลือชุมชน แม้ว่าทางกายภาพจะห่างไกลกันก็ตาม โดยจะเห็นได้จากการที่ผู้ใช้งานหันไปอุดหนุนสินค้าและบริการท้องถิ่น ดังที่สะท้อนให้เห็นว่ามี Stories ทั่วโลกกว่า 47 ล้านStories ที่ถูกสร้างขึ้นบน Instagram ติดสติกเกอร์ “Support Small Business” ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้คนกว่า 650,000 คน ในประเทศไทยเขียนโพสต์และคอมเมนต์ที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์บน Facebook ในช่วงล็อกดาวน์เดือนเมษายน ก่อนที่จะถึงวันหยุดจริง  และเรื่องที่สร้างความเปลี่ยนแปลงกับวิถีชีวิตคนมากที่สุดคือ โควิด-19 ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา แฮชแทกที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 ในประเทศไทย 5 อันดับแรกคือ #workfromhome #stayhome #stayathomechallenge #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ และ #socialdistancing ไม่น่าแปลกใจเลยที่ผู้คนยังสามารถหาทางเชื่อมต่อถึงกันได้ในยุคของโรคระบาดทั้งๆ ที่ต้องเจอกับข้อจำกัดต่างๆ นอกจากนี้สติกเกอร์ Stay Home ของ Instagram ยังถูกส่งมากกว่า 100 ล้านครั้งทั่วโลกในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดตัว และธุรกิจต่างๆ ก็ใช้ประโยชน์จากสติ๊กเกอร์ Food Order บนแพลตฟอร์ม   เรื่องเพลงและดนตรี สำหรับประเทศไทยแล้ว ดนตรีถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของประเทศนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสร้างบทสนทนาออนไลน์ โดย แบล็กพิงก์ เซเลน่า โกเมซ และเลดี้ กาก้า เป็นนักร้องที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปี2020 นอกจากนี้ นักร้องสาว คัง ซึล-กี และค่ายเพลงอย่าง SM Town ก็เกาะกระแสเข้ามาด้วย  เพลงไทยก็ไต่อันดับขึ้นมาบนแพลตฟอร์มต่างๆ ของ  เฟชบุ๊ก เช่น Slot Machine นั้นติดเทรนด์ตลอดปี 2020 ขณะที่แฮชแทกที่ไวรัลในปีนี้ยังรวมไปถึง #เจนนี่ได้หมดถ้าสดชื่น และ #ลิลลี่ได้หมดถ้าสดชื่น ด้วย  ผู้เป็นตำนาน หลายคนใช้  เฟชบุ๊ก เป็นพื้นที่เพื่อรำลึกผู้ที่จากไปแต่ยังทิ้งความทรงจำไว้เป็นตำนานบนโลกใบนี้ การเสียชีวิตของโคบี้ ไบรอันต์ เป็นหัวข้อที่มีการพูดถึงมากที่สุดบน  เฟชบุ๊ก ในปีนี้ทั่วโลก โดยโพสต์และ Stories 3 อันดับแรกมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เม็กซิโก และฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ การจากไปอย่างกระทันหันของนักแสดงหนุ่ม แชดวิก โบสแมน ก็ถือเป็นอีกเรื่องน่าสลดของปี เมื่อมองการสวมบทบาทของเขาในหนัง แบล็คแพนเธอร์ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความเท่าเทียมทางสีผิว  การตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชนผู้ใช้งาน  เฟชบุ๊กได้ร่วมกันสร้างโลกที่ดีกว่าในปี 2020 นี้ โดยมีผู้คนกว่า 2.5 ล้านคนทั่วโลกร่วมบริจาคเงินกว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากไฟป่าในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือว่าเป็นการระดมเงินช่วยเหลือครั้งที่ใหญ่ที่สุดของเฟชบุ๊ก.- สำนักข่าวไทย.

ดีป้านำเสนอการศึกษารูปแบบใหม่

กรุงเทพฯ 8 ธ.ค. ดีป้านำเสนอการศึกษารูปแบบใหม่นายกรัฐมนตรีย้ำพัฒนาทักษะดิจิทัลผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนเดินหน้าขับเคลื่อนการยกระดับกำลังคนของประเทศ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นายณัฐพลนิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำเครือข่ายดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา (EdTech) และคณะนักเรียนร่วมออกบูธนิทรรศการ เพื่อนำเสนอผลงานการศึกษาไทยยุค 4.0 ที่มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัลผ่านการเรียนรู้นอกห้องเรียนแก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. 2561-2564 โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเองของประชากรทุกกลุ่ม ทั้งเด็ก เยาวชน วัยทำงาน ผู้สูงวัย ผู้พิการ และทุกระดับความเชี่ยวชาญ ตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง ผ่านการส่งเสริมการสร้างบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Manpower) รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลแก่ประชากรทั่วไป (Digital Citizen) นายณัฐพล กล่าวว่า ต้นแบบการศึกษาไทยในยุค 4.0 พร้อมกันนี้ ยังได้พัฒนากำลังคนและทรัพยากรมนุษย์ผ่านความร่วมมือกับภาคเอกชนใน 3 กระบวนการหลัก ได้แก่ Reskill หรือการเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับบุคลากร โดยมุ่งส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลง Upskill หรือการยกระดับคุณภาพและความเชี่ยวชาญของกำลังคนด้านดิจิทัลที่อยู่ในอุตสาหกรรม และ New Skill หรือการเพิ่มทักษะใหม่ด้านดิจิทัลสำหรับวัยเรียนและผู้สูงอายุ เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต “การสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลแก่โรงเรียนได้ดำเนินการไปแล้ว 210 โรงเรียน โดยประเมินว่า ภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะเป็นแหล่งผลิตนักเรียนและเยาวชนมากกว่า77,000 คน ส่งเสริมการพัฒนาทักษะครูไปแล้ว 3,811 คน ซึ่งครูกลุ่มนี้จะสามารถส่งต่อความรู้ให้แก่นักเรียนไม่น้อยกว่า 234,000 คน พร้อมกันนี้ ยังได้บูรณาการการทำงานกับพันธมิตรภาคเอกชน อาทิ ไมโครซอฟท์ กูเกิล ฯลฯ ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม CodingThailand.org ซึ่งมีผู้เข้าใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน อีกทั้งสนับสนุนดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไปแล้ว 17 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวไม่น้อยกว่า100,000 คนในปี 2565” ผู้อำนวยการใหญ่  ดีป้า กล่าว สำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพ และนักเรียนที่ร่วมนำเสนอผลงานในครั้งนี้ ประกอบด้วย INFOGRAPHIC THAILAND (บริษัท ไลค์ มี จำกัด) จัดแสดงเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ช่วยในการฝึกอบรมพนักงาน ทำให้พนักงานได้ลงมือฝึกปฏิบัติผ่านโลกเสมือนจริงในสถานการณ์จำลองหลากหลายรูปแบบ ช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการฝึกปฏิบัติจริง ปัจจุบันนำไปใช้ในการฝึกอบรมช่างไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงแล้วกว่า 200 คน พร้อมกันนี้ ยังมีแผนที่จะผลิตชิ้นงานด้าน VR, AR (Augmented Reality) และอื่น ๆ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเรียนรู้ และลดความเสี่ยงจากการฝึกปฏิบัติจริง อาทิ VR training เรื่องการทำ CPR หรือ AR แสดงวิธีการช่วยชีวิตเบื้องต้น เป็นต้น Vonder (บริษัท วอนเดอร์ (ประเทศไทย) จำกัด) จัดแสดง Vonder Go เครื่องมือช่วยประเมินผลการเรียนรู้ในห้องเรียนผ่านรูปแบบเกมตอบคำถาม โดยคุณครูสามารถสร้างคำถามให้นักเรียนแข่งขัน หรือร่วมมือกันตอบคำถาม โดยมีระบบจับเวลา และวัดผลอย่างละเอียดเมื่อจบเกม ทำให้นักเรียนสนุกกับการเรียนรู้ยิ่งขึ้น ซึ่งคาดว่า ช่วงต้นปี 2564 จะเปิดให้คุณครูใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายทั่วประเทศ ผู้แทนนักเรียนจากโรงเรียนชลประทานวิทยา รองชนะเลิศอันดับสองในการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนชิงชนะเลิศประเทศไทย ประจำปี 2562 แสดงการจำลองการแข่งขันหุ่นยนต์ซูโม่ผ่านการเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ให้ดันหรืองัดฝ่ายตรงข้ามให้ตกจากสนามแข่งขันภายในเวลาที่กำหนด โดย โรงเรียนชลประทานวิทยา ผลิตนักเรียนที่มีทักษะด้าน Coding และ Robotics จำนวนกว่า 5,000 คนตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และในอนาคตจะสร้างโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยเปิดให้นักเรียนและผู้ปกครองจากโรงเรียนอื่นมีโอกาสพัฒนาทักษะด้าน Coding และRobotics ได้-สำนักข่าวไทย.

กสทช.ขยายความร่วมมือการยืนยันตัวตนแทนบัตรประชาชน

กรุงเทพฯ 7 ธ.ค. กสทช. จับมือเพิ่มเติมกับ ทีโอที ดีแทค ไตรเน็ต สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตลาดหลักทรัพย์ และเครดิตบูโรต่อยอดพัฒนาระบบ Mobile ID  หรือบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล  รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า   ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์ บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ “แทนบัตร” หรือMobile ID ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการทดสอบทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว  ต่อมาสำนักงาน  โดย ได้ขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ได้แก่ กรมการปกครอง  กรมการขนส่งทางบกสำนักงานประกันสังคม กรมสรรพากร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัดบริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อนำระบบ “แทนบัตร” หรือMobile ID นี้ ไปพัฒนาต่อและประยุกต์ใช้ภายใต้ภารกิจของแต่ละหน่วยงาน และวันนี้สำนักงาน กสทช. พร้อมแล้วที่จะขยายการทำงานร่วมกันเพิ่มเติมกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด สถาบันคุ้มครองเงินฝากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด เพื่อทำการทดสอบทดลองในระยะ Sandbox อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสามารถให้ประชาชนร่วมทดลองการใช้งานในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2564 กสทช. ได้ร่วมทำงานกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้าและหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อพิจารณาการกำหนดมาตรฐานของการให้บริการในระยะทดสอบทดลองนี้ด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งาน Mobile ID ในระยะทดสอบได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี2564 นายณัฐวุฒิ ศาสตราวาหะ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า TOT เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมควรร่วมกันพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การร่วมโครงการนี้ TOT จะสามารถต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า TOT สามารถใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วยและมีความเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาการให้บริการของ TOT ในช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น เช่น การซื้อ SIM Card การย้ายค่ายเบอร์เดิมโดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มจุดให้บริการได้ทั่วประเทศโดยใช้ช่องทางออนไลน์ นายชารัด เมห์โรทรา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่าดีแทคสนับสนุนรัฐบาล และ กสทช. ในการเริ่มพัฒนา “การยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล” ให้ประสบความสำเร็จและใช้งานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาเพื่อความมั่นใจในบริการดิจิทัลของภาครัฐและเอกชน ดีแทคได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) Mobile ID หรือ “แทนบัตร” เพื่อเข้าร่วมในช่วง Sandbox ทดสอบเทคนิค และพัฒนาระบบต่าง ๆ รวมถึงความร่วมมือกับองค์กรอื่น และนำเสนอหลักการสำคัญ เรามุ่งมั่นที่จะผลักดันระบบ Mobile ID ให้ใช้งานได้สมบูรณ์ในบริการต่าง ๆ เพื่อผู้ใช้งานจำนวนมาก และพัฒนาระบบจนมั่นใจในการรักษาทุกธุรกรรมออนไลน์ให้ปลอดภัย  ภายใต้กลยุทธ์ทางธุรกิจของดีแทคที่มุ่งสู่ “Digital first” เรามองเห็นโอกาสมากมายสำหรับการให้บริการดิจิทัลที่สะดวกเพิ่มขึ้น และไว้ใจได้ในความปลอดภัยของข้อมูลแก่ลูกค้าของเรา ระบบ Mobile ID จะช่วยให้ลูกค้าดีแทคสามารถลงทะเบียนซิมใหม่หรือรับบริการธุรกรรมอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลส่วนตัวรั่วไหล การใช้ระบบMobile ID จะช่วยลดงานที่ซ้ำซ้อนในการยืนยันตัวตนอีกด้วย นางสาวกมลวรรณ ศีลาภิรัติ  รองผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก กล่าวว่า DPA เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาDigital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือก ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของ DPA ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ การร่วมโครงการนี้ DPA จะดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับMobile ID เพื่อต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า DPA สามารถใช้บริการของ DPA ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการขอทราบข้อมูลต่างๆผ่านช่องทางออนไลน์ของ DPA และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช.ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป นายถิรพันธุ์ สรรพกิจ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทย ซึ่ง Mobile ID นับเป็นนวัตกรรมทางเลือกใหม่สำหรับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับใช้ยืนยันตัวตนแบบไร้สัมผัส ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่  New Normal ของคนไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถเชื่อมต่อกับ   Mobile ID ของสำนักงาน กสทช. เพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในตลาดทุนและประชาชนให้ทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย สะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์ให้ตลาดทุนเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน “SET…Make it Work for Everyone” ทั้งนี้ในระยะแรกจะเป็นการ อำนวยความสะดวกสำหรับการให้บริการเปิดบัญชีลงทุน และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทย โดย Mobile ID จะสามารถนำมาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการให้บริการของเครดิตบูโร ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันส่งเสริมการใช้นวัตกรรมใหม่ ๆในการให้บริการกับลูกค้าของเครดิตบูโร การร่วมโครงการนี้ เครดิตบูโร จะดำเนินการพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมต่อกับMobile ID เพื่อต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้าของเครดิตบูโรสามารถ ใช้บริการ ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยในระยะแรกจะเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับการขอตรวจสอบเครดิตสำหรับรายย่อย และในอนาคตจะขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้ทำความตกลงร่วมมือกันไว้แล้วต่อไป-สำนักข่าวไทย.

“พุทธิพงษ์” เตือนรับมือมัลแวร์เรียกค่าไถ่

กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. รมว.ดีอีเอสเตือนรับมือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ แนะอย่าโหลดไฟล์แปลกปลอมเข้าระบบ  ชู “ศูนย์ไทยเซิร์ต” ช่วยติวเข้มวางระบบป้องกัน นายพุทธิพงษ์​ ปุณณกันต์​ รัฐมนตรี​ว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ หรือ​ ดีอีเอส​  กล่าวว่า ขณะนี้มีกลุ่มผู้ที่ประสงค์ร้ายหรือแสวงหาประโยชน์ในลักษณะจับข้อมูลเป็นตัวประกันที่เรียกว่ามัลแวร์หรือการแฮกข้อมูลที่มักมาในรูปแบบของการเรียกค่าไถ่หน่วยงานรัฐหรือเอกชนขนาดใหญ่ โดยในช่วงปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ภายใต้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สพธอ. (ETDA) หน่วยงานสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตรวจพบกลุ่มผู้ไม่หวังดีเข้ามาโจมตีข้อมูลหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทยใช้ชื่อ เช่น วันนาคราย (WannaCry) แกนด์แครบ สต็อป (GandCrab Stop)  โพลีแรนซัม เวอร์ล็อก (PolyRansom/Virlock) ไครซิส/ดาร์มา (Crysis/Dharma) เป็นต้น  สถิติการโจมตีของมัลแวร์ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 มีการโจมตีทั้งสิ้น 1,969 ครั้ง มาในลักษณะของมัลแวร์ที่เข้ามาแฮกระบบเพื่อสร้างความเสียหายต่อข้อมูล โดยที่ผ่านมาได้ตรวจพบว่ากลุ่มผู้ไม่หวังดีจะใช้เซิร์ฟเวอร์ทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศโจมตีหน่วยงานที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมบันเทิง ภาคการเงินและสาธารณสุข ในหลายๆ ประเทศพร้อมๆกัน เพื่อสร้างผลกระทบ ทั้งการสูญเสียข้อมูลสำคัญ สูญเสียความพร้อมใช้งานของระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น “ตัวอย่างล่าสุดจากเคสการถูกมัลแวร์โจมตีของโรงพยาบาลสระบุรีที่ถูกแฮกข้อมูลของโรงพยาบาลและคนไข้​เมื่อช่วงเดือนกันยายน2563 ที่ผ่านมานั้น ​เป็นลักษณะของการเรียกค่าไถ่เพื่อแลกกับการปลดล็อกการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งต้องชื่นชมศูนย์ไทยเซิร์ตที่ตรวจสอบและพบความผิดปกติที่รวดเร็ว สามารถเร่งกู้ประวัติคนไข้กลับมา​ได้อย่างรวดเร็วและไม่มีการนำข้อมูลไปทำให้โรงพยาบาลเสียหาย​ ดังนั้นจึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ มีระบบป้องกันหรือรองรับที่เพียงพอเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาเจาะข้อมูลได้  และหากหน่วยงานไหนต้องการให้กระทรวงดิจิทัลฯ เข้าไปช่วยวางระบบป้องกันก็สามารถติดต่อเข้ามาเพื่อส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้คำแนะนำในการวางระบบป้องกันข้อมูลสำคัญ ถือเป็นการป้องกันการโจมตีข้อมูลจากผู้ไม่หวังดีในอนาคต”  นายพุทธิพงษ์กล่าว ทั้งนี้ช่องทางการติดมัลแวร์ ประกอบด้วย  รูปแบบที่ติดจากการคลิกไฟล์ในอีเมลอ่าน ซึ่งถือเป็นการกลไกการติดตั้งจากเหยื่อเอง (เหยื่อได้รับอีเมลล่อลวงให้เปิดไฟล์ติดตั้งมัลแวร์)  , มัลแวร์จะกระจายตัวเองอัตโนมัติผ่านเครือข่ายภายในไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์อื่น ๆ ที่มีช่องโหว่ และเครื่องคอมพิวเตอร์ถูกเจาะโดยโจรไซเบอร์ หลายครั้งพบว่าการเจาะระบบสำเร็จ เริ่มต้นมาจากการเจาะบริการที่มีความเสี่ยงที่เปิดอินเทอร์เน็ต เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์มีการเปิดให้บริการ Remote Desktop ร่วมกับมีการตั้งค่ารหัสผ่านคาดเดาง่าย สำหรับการรับมือและป้องกันมัลแวร์ต่างๆ เบื้องต้นอาจพิจารณาบล็อกการเชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ปลายทาง ตามข้อแนะนำของศูนย์ไทยเซิร์ต อาทิ กรณีที่พบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ติดมัลแวร์ ควรตัดการเชื่อมต่อจากเครือข่ายทันที เช่นการดึงสายแลนด์ออก ใช้เทคนิค Application Whitelist เพื่อป้องกันมัลแวร์ และโปรแกรมที่ไม่ได้รับการอนุญาตสามารถทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ โดยจัดการให้มีเพียงโปรแกรมที่ระบุและตรวจสอบแล้วทำงานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนโปรแกรมอื่นๆ ซึ่งรวมถึงมัลแวร์จะไม่สามารถทำงานได้  นอกจากนี้ ควรอัพเดตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ รวมถึงโปรแกรมป้องกันไวรัสให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และหลีกเลี่ยงในการเปิด Macro จากไฟล์เอกสารแนบที่มากับอีเมล  กรณีหน่วยงานและ องค์กรขนาดใหญ่ ควรทำการบล็อกอีเมลที่มีไฟล์แนบจากแหล่งที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือ หากพบเหตุต้องสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมในกรณีนี้ สามารถประสานกับไทยเซิร์ตโดยตรงได้ที่อีเมลreport@thaicert.or.th หรือโทรศัพท์ 0-2123-1212 -สำนักข่าวไทย.

เอไอเอสจับมือเกียรตินาคินภัทรให้บริการระบบยืนยันตัวตน

กรุงเทพฯ 4 ธ.ค. เอไอเอสจับมือเกียรตินาคินภัทร ให้บริการยืนยันตัวตนตามมาตรฐาน NDID เปิดบัญชีธนาคารได้โดยไม่ต้องไปสาขา นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า บริษัทฯ ร่วมกับ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) ในฐานะหน่วยงานกลางที่สร้างแพลตฟอร์มระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เปิดตัวบริการ “ยืนยันตัวตนบนโลก Online” เป็นรายแรกของค่ายมือถือ ที่ใช้การตรวจสอบข้อมูลด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric) จากข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตน ด้วยมาตรฐานระดับสากล รวมถึงมาตรฐานของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) บริการนี้เปิดให้ลูกค้ามือถือทุกค่าย และคนไทย ที่ต้องใช้การพิสูจน์และแสดงตัวตนทางดิจิทัลในการทำธุรกรรมของทั้งภาครัฐและเอกชน  เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก , กองทุน  หรือประกันชีวิต ผ่านช่องทาง AIS โดยเริ่มต้นที่ AIS Smart Kiosk @ AIS Shop ทุกสาขาทั่วประเทศ และในปีหน้าจะเริ่มขยายไปที่ ร้าน Telewiz ทุกสาขาทั่วประเทศ  และ AIS Buddy สาขาที่เข้าร่วมโครงการ “ปัจจุบันบริการในภาคการเงินบนดิจิทัลได้เริ่มเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีอย่างยิ่งในการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการแสดงตัวตนบนโลก Online หรือNational Digital ID ที่ถูกต้อง ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย จึงเป็นหัวใจสำคัญยิ่ง ดังนั้น เอไอเอส ในฐานะDigital Life Service Provider ซึ่งให้บริการทั้งเครือข่าย Digital Infrastructure และบริการดิจิทัล ที่ครบถ้วน โดยมีช่องทางให้คนไทยเข้าถึงได้ง่ายๆทั่วประเทศ จึงมีความพร้อมอย่างยิ่งในการเข้ามาเป็นผู้ให้บริการ “ยืนยันตัวตนบนโลก Online” หรือ Identity Provider ในฐานะค่ายมือถือรายแรก เพื่อเพิ่มโอกาส ความสะดวก ในการเข้าถึงบริการทางการเงินทุกประเภทของคนไทยทุกระดับ รวมถึงต่อยอดการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอีกด้วย โดยยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) พร้อมด้วย ธนาคารเกียรตินาคินภัทรจำกัด (มหาชน) เริ่มต้นให้บริการนี้ไปด้วยกัน ก่อนที่จะขยายความร่วมมือกับสถาบันการเงินอื่นๆอย่างต่อเนื่อง” ด้านนายบุญสันต์ ประสิทธิ์สัมฤทธิ์ ผู้จัดการใหญ่  บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) กล่าวว่า “ ปัจจุบันธุรกรรมทางดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดด ก้าวแรกของความมั่นใจในธุรกรรมดิจิทัลทั้งของผู้ทำธุรกรรม และผู้ให้บริการคือความมั่นใจว่าผู้ทำธุรกรรมดิจิทัลเป็นบุคคลนั้นจริง ๆ ซึ่ง NDID เป็นแพลตฟอร์มกลาง เพื่อการพิสูจน์และยืนยันตัวตนดิจิทัล โดยมีสมาชิกจากหลากหลายภาคส่วนร่วมให้บริการดังกล่าว โดยก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน โดย NDID ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้ให้เกียรติให้บริการเป็นผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่าน AIS Kiosk ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลให้แก่ผู้ทำธุรกรรมดิจิทัลได้สะดวกยิ่งขึ้น และธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะของผู้ให้บริการธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล ที่ได้พัฒนา และขยายขอบเขตการให้บริการลูกค้าผ่านการยืนยันตัวตนดิจิทัลผ่าน NDID อย่างต่อเนื่องNDID หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่าง AIS KKP และ NDID จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และการส่งเสริมการเติบโตด้านธุรกรรมดิจิทัลของประเทศไทย นายฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า ธุรกิจธนาคาร ความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของธุรกรรมถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่ผ่านมาระบบธนาคารจึงบังคับว่าต้องมีกระบวนการยืนยันตัวตนที่สาขาก่อนที่จะมีการเปิดบัญชีอย่างเคร่งครัด แต่ในวันนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ได้มาจับมือกับ AIS ซึ่งมีเครือข่ายให้บริการที่กว้างขวางครอบคลุม และ NDID ซึ่งมีแพลตฟอร์มสำหรับพิสูจน์และยืนยันตัวตนได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกของการเปิดบัญชีกับธนาคารเกียรตินาคินภัทรได้โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา เพียงลูกค้านำบัตรประชาชนมาแสดงตัวตนที่ AIS Smart Kiosk ทั่วประเทศ ธนาคารจะสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนลูกค้าได้ พัฒนาการเหล่านี้จะทำให้ต่อไปธุรกรรมออนไลน์เกิดขึ้นได้สะดวกรวดเร็วกว่าเดิม โดยยังคงมาตรฐานของความปลอดภัยสูงสุด นับเป็นการลดต้นทุนทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งจะผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง-สำนักข่าวไทย.

ดีอีเอสให้ทีโอทีเร่งช่วยผู้ประสบภัยภาคใต้

นครศรีธรรมราช 4 ธ.ค. พุทธิพงษ์ ส่งทีโอทีลงพื้นที่ช่วยชาวนครศรีธรรมราชหลังประสบอุทกภัยหนัก นายนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กบ่าวว่า จากน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่มีพื้นที่ประสบภัยเป็นวงกว้าง ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก โดยนายพุทธิพงษ์ ได้กำชับให้หน่วยงาน ในสังกัด เร่งรองพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการด่วนโดยนายมรกต  เธียรมนตรีรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมพร้อมผู้บริหาร ลงพื้นที่จ.นครศรีธรรมราช ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพจำนวน 500 ถุงน้ำดื่มสะอาดจำนวน 3,600 ขวด  มอบให้พนักงาน ลูกจ้าง ตลอดจนประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อ.นบพิตำจ.นครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือทั้งพนักงาน/ลูกจ้างผู้ประสบภัยตามหลักเกณฑ์ของบริษัท และให้การสนับสนุนบริการโทรคมนาคมตามที่หน่วยงานภาครัฐ และศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยร้องขออย่างเต็มที่ด้วย  พร้อมทั้งส่งกำลังใจให้พี่น้องประชาชน จังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบอุทกภัย ให้ผ่านพ้นสถานการณ์ภัยทางธรรมชาติครั้งนี้ไปได้โดยเร็ว-สำนักข่าวไทย.

1 2 3 4 5 6 16,774
...