กรุงเทพ11 ส.ค.-เงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวผลดีตลาดทุน ประเมิน เฟดลดความร้อนแรงขึ้นดอกเบี้ย ส่วนในไทย คาด กนง.อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25-0.50 % ในช่วงที่เหลือของปีนี้จากที่สหรัฐประกาศเงินเฟ้อ หรือ CPI เดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 8.5% ชะลอตัวลงจาก 9.1% ในเดือนมิถุนายน และหากตัดราคาอาหารและพลังงาน สะท้อนในตัวเลข “core inflation” เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% จากเดือนมิถุนายน และปรับขึ้น 5.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า เงินเฟ้อสหรัฐได้พ้นจุดสูงสุด (พีค)ไปแล้ว ตลาดจะปรับมาให้มุมมองต่อเศรษฐกิจโลก-ไทย มากขึ้น ทั้งนี้นักลงทุนต่างปรับลดคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด )จากเดิม คาดจะขึ้นอีก0.75% ปรับลดเป็นขึ้น 0.50% สู่ระดับ 2.75-3.00% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องทั้งจากจำนวนนักท่องเที่ยว การค้าการลงทุนก็ย่อมเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อหุ้นไทยดีดตัวขึ้นในวันนี้
“นับจากนี้ต้อง โฟกัสหุ้นที่ได้ประโยชน์จากต้นทุนลง จากราคาน้ำมันผ่านพ้นจุดพีกไปแล้ว หุ้นกลุ่มบริโภค กลุ่ม ค้าปลีกเพราะผู้ซื้อมีอำนาจซื้อเพิ่มขึ้น จากต้นทุนลดลง ประกอบกับอัตราผลตอบแทนพันธสหรัฐผ้านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว เมื่อต้นทุนลดลงเช่นนี้ก็แนะนำ กลุ่มหุ้นกำไรเติบโต ดี” นายกรภัทร กล่าว
ส่วนการที่คณะกรรมการไตรภาคีฯ เห็นชอบเตรียมขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-8 % โดยจะมีผล 1 ต.ค. ซึ่งกรณี ประเมินว่าการขึ้นราคาแรงประมาณ 7% อาจจะกระทบกำไรของ บจ.ต่างๆ หายไป ราว 7.5 พันล้านบาท หรือ 0.7% ต่อกำไรในปีหน้า กระทบเชิงลบ 4 กลุ่มได้แก่ กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่ม อสังหาฯจะกำไรลดลงจากคาดการณ์ในปีนี้ 6-7 % กลุ่มท่องเที่ยวและ ร้าน อาหาร จะลดลง ประมาณ 10 % ส่วนกลุ่มที่ได้รับผล บวกคือลิสซิ่ง เช่น TIDLOR เพราะฐานลูกค้าจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเป็นผลบวกต่อ การชำระหนี้และการกู้ยืม
ส่วนกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.25% ต่อปีหรือปรับ จาก 0.5% เป็น 0.75% ศูนย์วิจัยEICธนาคารไทยพาณิชย์ คาด กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในการประชุมทั้ง 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี ทำให้ดอกเบี้ย ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1.25%
นายฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์จาก Krungthai COMPASS มองว่าเป็นไปได้ที่ กนง. จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25-0.50 % ในช่วงที่เหลือของปี ประเมินจากการส่งสัญญาณของ กนง. ที่คณะกรรมการเสียงข้างมากถึง 6 ต่อ 1 ท่านที่ลงมติให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75 % และมีกรรมการเสียงข้างน้อย 1 ท่านเห็นควรให้ปรับขึ้นถึง 0.50 % โดยไม่มีกรรมการท่านใดเห็นควรให้คงดอกเบี้ย สะท้อนท่าทีเข้มงวดมากขึ้น
นอกจากนี้ กนง. ยังระบุว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในช่วงที่ผ่านมาจึงมีความจำเป็นลดลง รวมทั้งมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า GDP จะกลับเข้าสู่ระดับเดิมก่อนการแพร่ระบาดภายในสิ้นปีนี้ โดยมีแรงส่งชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด สอดคล้องกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องหลังยกเลิกมาตรการ Thailand Pass คาดว่ามีโอกาสแตะระดับ 7-8 ล้านคนในปีนี้
ด้านอัตราเงินเฟ้อ กนง. คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง ก่อนทยอยปรับลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี2566 แต่แสดงความกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปยังมีความเสี่ยงด้านสูงจากการส่งผ่านต้นทุนไปยังเงินเฟ้อพื้นฐานที่อาจมากและเร็วกว่าคาด บ่งชี้ถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อที่เริ่มกระจายเป็นวงกว้าง เป็นไปในทางเดียวกับมุมมองของ Krungthai COMPASS ที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีจะอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีซึ่งอยู่ที่ 5.9% โดยอัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้ อยู่ที่ 6.1% Krungthai COMPASS จึงมองว่า กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25-0.50 % ในช่วงที่เหลือของปี รวมเป็น 0.50-0.75% ในครึ่งปีหลัง. –สำนักข่าวไทย