กรุงเทพฯ 27 ก.ค.- สมาคมประกันชีวิตเผยเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง ฉุดธุรกิจประกันชีวิตครึ่งปีแรก ชะลอตัว มั่นใจครึ่งปีหลังยังเติบโตได้ ตามคาด ประมาณ 0-2.5% จากประกันสุขภาพ-ประกันชีวิตแบบบำนาญ
นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 (มกราคม-มิถุนายน) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 289,097 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 1.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยจำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรายใหม่ 79,685 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 4.75 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 209,412 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.82 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกปี 2565 พบว่า เบี้ยประกันภัยรับรวมของสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ (Health) และสัญญาเพิ่มเติมโรคร้ายแรง (CL) อยู่ที่ 50,808 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2564 จากการที่ประชาชนตระหนักถึงการดูแลสุขภาพและการทำประกันสุขภาพมากขึ้นเนื่องจากจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงจากค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นทุกปี ขณะที่เบี้ยประกันภัยรวมของประกันชีวิตแบบบำนาญอยู่ที่ 4,540 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.98 ส่วนหนึ่งมาจากการที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมธุรกิจประกันภัยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 อยู่ในระดับที่ชะลอตัว อัตราการเติบโตของเบี้ยประกันภัยรับรวมลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ อาทิ ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากสถานการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคและส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงภาวะดอกเบี้ยที่มีความผันผวนและสถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า ทำให้ประชาชนชะลอการลงทุน จะเห็นได้จากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตควบการลงทุน มีเบี้ยประกันรวมอยู่ที่ 19,825 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 8.22
สำหรับทิศทางภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 ยังมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีอัตราการเติบโตเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี โดยคาดการณ์ว่าภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2565 จะมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 612,000-629,500 ล้านบาท อัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 0 ถึง 2.5 และอัตราความคงอยู่ประมาณร้อยละ 82 ถึง 83 โดยหลัก ๆ มาจากปัจจัยบวกที่ช่วยกระตุ้นและส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิตในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่คนใส่ใจและดูแลสุขภาพ และได้ตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุของไทยในปัจจุบัน ทำให้ประชาชนเริ่มหันมาทำประกันชีวิตแบบบำนาญมากขึ้น ในขณะเดียวกันพฤติกรรมการซื้อประกันผ่านช่องทางออนไลน์รวมกับ ช่องทางหลักอย่างช่องทางตัวแทนและช่องทางอื่น ๆ เริ่มมีสัดส่วนที่มากขึ้น จากความสะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายมากขึ้น เพราะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลและเลือกแบบประกันที่ตรงกับความต้องการ
นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจประกันชีวิต เรื่องของการลดหย่อนภาษี รวมถึงเรื่องการขายรูปแบบ Digital Face to Face ที่ลดขั้นตอนและเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการเสนอขายประกันชีวิต ซึ่งช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ธุรกิจประกันชีวิตยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้ง สงครามการค้าระหว่างประเทศ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ การเกิดใหม่ของสงครามเทคโนโลยี (Cyber War) ตลอดจนการบังคับใช้กฎหมายใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) พ.ศ. 2562 และสัญญาการประกันภัยสุขภาพแบบมาตรฐานใหม่ (New Health Standard) ส่งผลให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตต้องพัฒนาแบบประกันและการบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ปรับกระบวนการให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงต้องบริหารความเสี่ยงรอบด้านทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงานได้ทันต่อสถานการณ์ และให้ฐานะทางการเงินของบริษัทประกันยังเติบโตได้มั่นคงและแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ สมาคมประกันชีวิต ได้เตรียมความพร้อม โดยมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลาย ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะรายบุคคลมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้แก่บริษัทใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในกระบวนการเสนอขายและการส่งมอบบริการหลังการขาย .-สำนักข่าวไทย