สนพ. 4 เม.ย.-คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) คงราคาก๊าซแอลพีจีเดือนเมษายนไว้ที่
20.96 บาท/กิโลกรัม แม้ราคาตลาดโลกจะลดลง โดยลดเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของก๊าซแอลพีจีลง
และทำให้รายจ่ายของกองทุนน้ำมันฯในส่วนก๊าซลดลงไปกว่า 100 ล้านบาท/เดือน
นายทวารัฐ สูตะบุตร
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
(กบง.) ที่มี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีเดือนเมษายน
2560
โดยจากสถานการณ์ราคาก๊าซแอลพีจีตลาดโลกปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 80 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
มาอยู่ที่ระดับ 460 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตัน
ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1217 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
มาอยู่ที่ 35.0676 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซแอลพีจี ปรับลดลง
2.9139 บาท/กิโลกรัมจาก
20.5787 บาท/กิโลกรัม
เป็น 17.6648 บาท/กิโลกรัม
แต่เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเตรียมการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีเต็มรูปแบบในอนาคต
ที่ประชุม กบง. จึงเห็นควรให้คงราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีเดือนเมษายน 2560 ไว้ที่ 20.96 บาท/กิโลกรัม โดยปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ
ลง 2.9139 บาท/กิโลกรัม จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ
ชดเชยที่ 6.6336 บาท/กก.
เป็นชดเชยที่ 3.7197 บาท/กิโลกรัม
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ
ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซแอลพีจี มีรายจ่ายลดลงจากเดือนก่อน ประมาณ 322 ล้านบาท
จากเดิมมีรายจ่ายอยู่ที่ 444 ล้านบาท/เดือน ลดลง 121 ล้านบาท/เดือน
โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 เมษายน 2560 อยู่ที่ 40,155 ล้านบาท
แบ่งเป็น ในส่วนของบัญชีก๊าซ
LPG อยู่ที่ 6,514 ล้านบาท และ ในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป
อยู่ที่ 33,641 ล้านบาท
ที่ประชุม กบง.
ได้รับทราบรายงานผลการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ
และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ของ คสช.
ซึ่งมีพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบกเป็นประธานจัดงาน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 จำนวน 3 เวที ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้
มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ฝ่ายปกครอง ผู้ว่าราชการจังหวัด กำนัน
ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนผู้แทนประชาชน และภาคประชาสังคม รวมทั้งสิ้น 3,485 คน โดยสรุปภาพรวมพบว่า
ส่วนใหญ่มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า
ภาคใต้มีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น
แต่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน
โดยฝ่ายที่เห็นด้วยมีความเห็นว่า
โรงไฟฟ้าจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ดีขึ้น
ส่วนฝ่ายที่เห็นต่างยังมีความกังวลโดยเฉพาะเรื่องผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อม
รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
เนื่องจากเห็นว่าภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงดังกล่าว ซึ่งคสช.
ได้สรุปผลการจัดกิจกรรมฯ เสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว และ
คาดว่าจะจัดทำรายงานผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ
เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเสนอต่อรัฐบาลได้ ภายในวันที่ 28 เมษายนนี้
ส่วนรายงานสรุปการดำเนินงานในช่วงที่มีการปิดซ่อมประจำปีของแหล่งจ่ายก๊าซยาดานา
ฝั่งตะวันตก ประเทศเมียนมา โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า
ตามแผนการปิดซ่อมบำรุงแหล่งก๊าซฯ ดังกล่าว ได้กำหนดไว้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม – 2 เมษายน 2560 เวลา 24.00 น.
รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 9 วัน แต่เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2560 เวลา 08.46 น. พบว่า
การซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ โดยผู้ผลิตแหล่งก๊าซฯ เมียนมา ทุกแหล่ง
สามารถดำเนินการจ่ายก๊าซฯ กลับเข้าสู่ระบบได้ตามปกติ ซึ่งเร็วกว่าแผนประมาณ 1 วัน
และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รายงานการคาดการณ์พลังงานไฟฟ้า สืบเนื่องจากผลของพายุฤดูร้อนที่เกิดตั้งแต่วันอาทิตย์ที่
26 มีนาคม 2560
ต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ทำให้อุณหภูมิลดลงมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 33-34 องศาเซลเซียส
ส่งผลให้ประมาณการการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560
ที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 28,250 เมกะวัตต์ มีค่าที่เกิดขึ้นจริงในระบบของ กฟผ.
อยู่ที่ระดับ 26,220 เมกะวัตต์
น้อยกว่าคาดการณ์ไว้ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ และค่าที่เกิดขึ้นจริงในระบบของทั้ง 3 การไฟฟ้า
อยู่ที่ระดับ 27,051 เมกะวัตต์-สำนักข่าวไทย