กรุงเทพฯ 8 ก.ค.- รมว.เกษตรฯ หนุนเกษตรกรใช้ปุ๋ยผสมผสาน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหาปุ๋ยแพง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมใช้ “ศูนย์จัดการดินและปุ๋ยชุมชน” เป็นต้นแบบ และทำหน้าที่จัดหาปุ๋ยบริการเกษตรกรสมาชิก ศดปช. แปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรายย่อยจาก ธ.ก.ส.
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้อง เนื่องจากเกษตรกรยังขาดความรู้และใช้ปุ๋ยมากเกินความจำเป็น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในส่วนของปุ๋ยเคมีสูง ประกอบกับประเทศไทยยังคงต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาด้านการนำเข้า อาจทำให้ปุ๋ยเคมีราคาสูง และหาซื้อยากมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง
นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมฯ มีมาตรการแก้ไขปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่มีเสถียรภาพ ระหว่างปี 2565-2569 แต่การแก้ไขปัญหาระยะสั้นของกรมส่งเสริมการเกษตรนั้น ได้มอบแนวทางปฏิบัติลงสู่พื้นที่ เพื่อให้สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอ ส่งเสริมเกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม และการใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ผ่าน “ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน” ศดปช. การผลักดัน ศดปช. เป็นต้นแบบ และสนับสนุน ศดปช. เป็นกลไกขยายผลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาปุ๋ยเคมีราคาสูงและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายแม่ปุ๋ยได้ และการจัดหาแหล่งทุนเสริมสภาพคล่อง ทั้งการขอสินเชื่อและการจัดหาแหล่งทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ในการจัดหาปุ๋ยบริการสมาชิก ศดปช. แปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรายย่อยจาก ธ.ก.ส.
นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ยังสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน ทั้งปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ โดยเน้นใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่มีในท้องถิ่นมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และการไถกลบตอซัง เพื่อทำให้เกิด 4 ลด 4 เพิ่ม คือ ลดการเผา ลดโลกร้อน ลดการชะล้างดิน และลดต้นทุนด้านปุ๋ยเคมี ในขณะที่ทำให้มี 4 เพิ่ม คือ เพิ่มอินทรียวัตถุ เพิ่มธาตุอาหารพืช เพิ่มผลผลิต และเพิ่มมูลค่าวัสดุการเกษตรเหลือใช้ ในสภาวะที่ปุ๋ยเคมีปรับราคาสูงขึ้นและขาดแคลนจากความผันผวนที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ
ทั้งนี้ ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ต่างก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ไม่สามารถที่จะใช้ทดแทนกันได้ทั้งหมด ปุ๋ยเคมีที่เราใส่ลงไปในดิน จะให้ธาตุอาหารในปริมาณมาก พืชนำไปใช้ได้ง่ายและรวดเร็ว ในขณะที่ปุ๋ยอินทรีย์ มีปริมาณธาตุอาหารอยู่น้อยกว่า และมีคุณสมบัติช่วยให้ดินมีความโปร่ง ร่วนซุย ระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดี เพื่อให้รากพืชได้ชอนไชไปหาธาตุอาหารได้ง่ายขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยเคมี ดังนั้น เกษตรกรจึงควรใช้ปุ๋ยเคมีร่วมกับปุ๋ยอินทรีย์ด้วยเช่นกัน
กรมส่งเสริมการเกษตร ขอเชิญชวนให้เกษตรกรเข้ามาใช้บริการที่ ศดปช. ทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรสามารถจัดการดิน วิเคราะห์ดิน และใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างถูกต้องในปริมาณที่เหมาะสมกับปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดินและความต้องการของพืช เป็นการใช้ปุ๋ยแม่นยำเฉพาะพื้นที่ ไม่มากไม่น้อยเกินไป และเกิดการลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง.-สำนักข่าวไทย