กรุงเทพฯ 8 ก.ค.- อธิบดีกรมชลประทานระบุ สั่งทุกโครงการชลประทานเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักเพิ่มขึ้นตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 8–14 ก.ค. 2565 นี้ ย้ำบริหารจัดการน้ำหลากอย่างเต็มศักยภาพ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันเฝ้าระวังและบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำ
กำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จากการประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) แล้วพบว่า จะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่มีฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมากอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในช่วงวันที่ 8-14 กรกฎาคม 2565
ทั้งนี้ย้ำให้ทุกโครงการชลประทานพร้อมรับสถานการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยตามประกาศของ กอนช. ดังนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ
– ภาคเหนือ จ.เชียงราย (อ.เชียงของ เทิง เวียงแก่น แม่จัน แม่ฟ้าหลวง และแม่สาย) จ.เชียงใหม่ (อ.อมก๋อย) จ.แม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และสบเมย) จ.ตาก (อ.ท่าสองยาง และอุ้มผาง) จ.น่าน (อ.เฉลิมพระเกียรติ)
– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครพนม (อ.ธาตุพนม) จ.มุกดาหาร (อ.หว้านใหญ่ และหนองสูง )
– ภาคตะวันออก จ.นครนายก (อ.เมืองนครนายก และปากพลี) จ.ปราจีนบุรี (อ.กบินทร์บุรี และนาดี) จ.สระแก้ว (อ.เมืองสระแก้ว) จ.จันทบุรี (อ.เมืองจันทบุรี แหลมสิงห์ ขลุง ท่าใหม่ มะขาม และนายายอาม) จ.ตราด (อ.เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง เมืองตราด แหลมงอบ คลองใหญ่ และบ่อไร่)
2. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำสายหลักและสาขาในพื้นที่ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก จันทบุรี และตราด
3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 1 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความพร้อมใช้งานได้ของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเตรียมรับน้ำหลากและป้องกันน้ำท่วมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ที่สำคัญให้บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมไปถึงวางแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก การเตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักร เครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรองที่จะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ที่ www.rid.go.th และ http://swoc.rid.go.th/ และ https://www.facebook.com/Wmsc.Irri หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมชลประทาน 1460 .-สำนักข่าวไทย