กรุงเทพฯ 6 ก.ค. – ไทยร่วมประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน 5 ประเทศอาเซียนตอนล่างซึ่งเข้าสู่ฤดูแล้งในเดือนก.ค.-ก.ย.นี้ โดยมีโอกาสเกิดไฟไหม้ป่าพรุบริเวณเกาะสุมาตราและในประเทศไทย ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 23 (23’d MSC) ร่วมกับ ดาโต ฮาจิ มูเอช จูอันดา ฮาจิ อับดุล ราชิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนา ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม ดร. สิติ นูร์บายา บาการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ดาโต้ ศรีตวน อิบราฮิม ตวน มาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำประเทศมาเลเซีย และ เอมี่ คอร์รัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐในกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐสิงคโปร์ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อรับรองผลการประชุมคณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 23
ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้รายงานการดำเนินงานของแต่ละประเทศในการเตรียมพร้อมรับมือหมอกควันข้ามแดนในอาเซียนตอนล่างซึ่งประเทศไทยเตรียมดำเนินงานเพื่อป้องกันไฟไหม้ป่าพรุในพื้นที่ภาคใต้ และการรับมือสถานการณ์และแก้ไข ปัญหาหมอกควันข้ามแดน รวมถึงการใช้แบบจำลองคาดการณ์สถานการณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 7 วันในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2565 นอกจากนี้ที่ประชุมพิจารณากลยุทธการจัดการป่าพรุในพื้นที่อาเซียนตอนล่างเพื่อให้การแก้ไขปัญหาไฟจากป่าพรุโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้มีการจัดการอย่างยั่งยืนต่อไป
ในช่วงเดือนกรกฎาคม–กันยายน ของทุกปีเป็นช่วงหน้าแล้งของภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง มีโอกาสเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุ ทั้งป่าพรุภายในประเทศและป่าพรุบริเวณเกาะสุมาตรา ซึ่งสถานการณ์ไฟป่าดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันส่งผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง และเพื่อเตรียมความพร้อมภายในประเทศ คพ.ได้จัดประชุมหน่วยงาน ทส.ในพื้นที่ภาคใต้ ในการรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองภาคใต้ ปี 2565 โดยนายวราวุธ ได้ให้นโยบายให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผนและร่วมมือร่วมใจในการดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับประชาชน และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการเฝ้าระวังไฟไหม้ป่าพรุ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนและการท่องเที่ยว.-สำนักข่าวไทย