กรุงเทพฯ 20 มิ.ย. – สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจัดงานวันคล้ายวันสถาปนา ครบรอบ 54 ปี พร้อมกันนี้จัดเสวนาประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานสหกรณ์เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาการทุจริต
วันนี้เป็นวันคล้ายวันสถาปนาสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) ครบรอบ 54 ปี ณ ศูนย์การประชุมรัชนีแจ่มจรัส สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ ภายในงานได้จัดเสวนาหัวข้อ “สหกรณ์เขาโกงกันอย่างไร” เพื่อถกประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานสหกรณ์ ช่องทางที่ก่อให้เกิดการทุจริต และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการป้องกันการทุจริตในสหกรณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานกรรมการดำเนินการ สสท. นายสิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ และนายไพบูลย์ แก้วเพทาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า แม้ว่าสหกรณ์จะไม่ใช่องค์กรทุนนิยมที่แสวงหาผลกำไร แต่มีการเติบโตต่อเนื่อง มียอดเงินรวมสหกรณ์ทั่วประเทศที่ 3.58 ล้าน ๆ บาท ความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตในสหกรณ์ปัจจุบัน ณ วันที่ 1 มิ.ย. 65 กว่า 18,000 ล้านบาท รวมสหกรณ์ได้รับความเสียหาย คงเหลือ 252 แห่ง เทียบกับสหกรณ์ทั่วประเทศไทย คิดเป็น 0.5% โดยการทุจริตมักเกิดใน 3 รูปแบบ
1. ทุจริตด้านเงินฝากเกิดจากการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตกแต่งตัวเลขเงินฝาก เช่น ยอดเงินในสมุดฝากของสมาชิกไม่ตรงกับในระบบ การป้องกันที่ดีคือ กรรมการสหกรณ์ต้องมีระบบสอบทานเงินฝากให้กับสมาชิกรับทราบโดยตั้งกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบ
2. ทุจริตด้านเงินกู้สมาชิก การปลอมแปลงสัญญาซึ่งสมาชิกไม่ได้กู้จริง
3. ทุจริตเชิงนโยบาย เช่น จัดทำโครงการแล้วอาศัยช่องว่าง เช่น โครงการตั๋วปุ๋ยเป็นร้อยล้านแต่ไม่มีปุ๋ยเข้ามาจริง ซึ่งภาครัฐพยายามสร้างความตระหนักรู้รวมถึงสร้างกลไกที่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ปรับกฎหมาย ระเบียบ ไม่เปิดโอกาสให้มีการทุจริต
อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบภายในของสหกรณ์เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดก่อนถึงผู้สอบบัญชี อีกทั้งปัจจุบันสหกรณ์มีโปรแกรมบัญชีของเอกชนที่มีมาตรฐานหลากหลายสหกรณ์สามารถนำมาใช้ได้ ช่องว่างคือ ฝ่ายจัดการที่รู้ระบบสามารถแก้ไขตัวเลขได้หากไม่มีระบบ IT AUDIT และให้เชิญชวนสมาชิกตรวจสอบเงินตัวเองด้วยการใช้ Mobile Application
นายปรเมศวร์กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตในสหกรณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเกิดจากสาเหตุของการขาดการตรวจสอบ ระบบบริหารจัดการความเสี่ยง ระบบควบคุมการบริหารงานสหกรณ์ที่ขาดประสิทธิภาพ รวมไปถึงปัญหาการขาดจริยธรรมหลักธรรมาภิบาลและขาดมาตรการสร้างกลไกถ่วงดุลอำนาจอย่างเหมาะสม คาดหวังว่า เมื่อสหกรณ์และสมาชิกได้รับความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดการทุจริตจะช่วยให้เห็นถึงสัญญาณการทุจริตได้เร็วขึ้นเพื่อลดโอกาสและลดแรงจูงใจในการทุจริตภายในสหกรณ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม หากคณะกรรมการ ตลอดจนสมาชิกสหกรณ์มีความรู้เข้าใจถึงสัญญาณเตือนและความผิดปกติในการบริหารจัดการสหกรณ์ จะทำให้เกิดการตรวจสอบภายในสหกรณ์ที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
สำหรับในโอกาสย่างเข้าปีที่ 55 สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยจึงมีนโยบายที่จะเป็นศูนย์กลางรับเรื่องร้องทุกข์การทุจริตและการไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยทำหน้าที่เช่นเดียวกับศูนย์ดำรงธรรม ทั้งนี้จะนำร่องด้วยการเปิดเวทีให้สหกรณ์ได้ร้องเรียนตามภูมิภาค เช่น การจัดสัมมนาและอบรมของสันนิบาตสหกรณ์จังหวัด ซึ่งเป็นการช่วยเหลือและเปิดโอกาสให้สหกรณ์ต่างจังหวัดเข้าถึงโดยไม่ต้องเดินทางมายังส่วนกลาง
นายปรเมศวร์กล่าวย้ำว่า การสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวที่ช่วยในการสร้างจิตสำนึกในการบริหารสหกรณ์เนื่องจากคนเก่งนั้นหาไม่ยาก แต่หาที่ยากคือคนดี เมื่อสหกรณ์และสมาชิกติดอาวุธทางปัญญาและทราบถึงระบบเตือนภัยการทุจริต แล้วร่วมตรวจสอบจะช่วยลดการทุจริตในสหกรณ์ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสหกรณ์และสมาชิก ตลอดจนสร้างธรรมาภิบาลให้กับขบวนการสหกรณ์ทั่วประเทศ
นายสิรวิชญ์ ไพศาสตร์ ที่ปรึกษาสันนิบาตสหกรณ์ฯ สิ่งที่ผู้บริหารสหกรณ์ต้องทำคือ วางระบบการป้องกันระบบการค้นพบการทุจริตให้ได้ การทุจริตในสหกรณ์เกิดได้ตั้งแต่ สมาชิก ฝ่ายจัดการ ฝ่ายบริหาร ส่วนการทุจริตเชิงนโยบายสามารถป้องกันได้ เช่น การไม่ให้กรรมการที่มีส่วนได้เสียพิจารณาและระบบ สหกรณ์ขาดระบบ IT AUDIT หรือที่เรียกว่าการตรวจสอบการควบคุมการจัดการภายในหรือการตรวจสอบข้อมูลระบบ และตั้งข้อสังเกตว่า ระบบการจ่ายค่าตอบแทนในสหกรณ์ค่อนข้างต่ำอาจจะเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตการพิจารณาค่าตอบแทนจึงควรเป็นไปอย่างเหมาะสมและระบบผู้ตรวจสอบในสหกรณ์ ถูกคัดเลือกจากคณะกรรมการในเบื้องต้น ผู้ตรวจสอบอาจจะไม่มีความอิสระพอทางความคิดและเกิดระบบความเกรงใจ ไม่สร้างผู้ตรวจสอบระดับมืออาชีพ
นายไพบูลย์ แก้วเพทาย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสหกรณ์กล่าวว่า องค์ประกอบที่ทำให้เกิดการทุจริตประกอบด้วย คน ระบบ และการกำกับตรวจสอบ ดังนั้นต้องมีระบบป้องกันต้องมี 3 ระบบคือ 1. ธรรมาภิบาล 2. การบริหารความเสี่ยง 3. ระบบการตรวจสอบภายในเช่น สหกรณ์ต้องมีระบบ Check and Balance หรือระบบตรวจสอบตรวจทาน เช่น Mobile App สามารถตรวจได้ว่าเงินในสมุดคู่ฝากตรงกับในระบบเป็นการวางระบบให้สมาชิกตรวจสอบได้.-สำนักข่าวไทย