กรุงเทพฯ 13 มิ.ย.-ผู้ว่าแบงก์ชาติ ยอมรับกังวลปัญหาเงินเฟ้อฉุดเศรษฐกิจ ส่งสัญญาณชัดจ่อปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ชี้ถึงเวลาต้องค่อย ๆ ถอนคันเร่งแล้ว หากไม่ทำอะไรผลกระทบเงินเฟ้อจะหนักกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 เท่า ห่วงการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวที่จะเป็นรายได้หลักของประเทศ
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ปัจจัยเศรษฐกิจตอนนี้ ยังมีความไม่แน่นอน (Uncertainty) ทำให้เศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องสร้างกันชน-ภูมิคุ้มกัน ทางเศรษฐกิจ 5 ด้าน ได้แก่เสถียรภาพต่างประเทศ ทุนสำรองประเทศยังสูง ทุนไหลออกไม่ใช่เรื่องน่ากังวล / เสถียรภาพการคลัง หนี้สาธารณะ ณจุดนี้ยังไม่ใช่เรื่องน่ากังวล / เสถียรภาพการเงิน / เสถียรภาพราคา / กลไกการดำเนินนโยบายที่ดี และสุดท้ายที่สำปัญหา “เงินเฟ้อ” จากเดิมที่เคยต่ำมากจนไม่จำเป็นต้องสนใจเลย แต่หลังเกิดเหตุยูเครน-รัสเซีย เราก็ได้เห็นเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นจนเกินเป้า ซึ่งจะไปถึงจุดพีคในไตรมาส 3 ปีนี้ ทำให้เรื่องเงินเฟ้อเป็นโจทย์สำคัญมากต่อภาวะเศรษฐกิจนี้
ปีนี้เศรษฐกิจโต 3.3% และปีหน้า 4.2% จากเศรษฐกิจโต เศรษฐกิจไทยกระทบหนักกว่า การฟื้นตัวก็ช้ากว่าชาวบ้านเนื่องจากไทยพึ่งพาการท่องเที่ยว แม้ตัวเลขจะฟื้นตัว แต่หากถามคนทั่วไปคนก็ไม่รู้สึก เพราะรายได้ที่เข้ามาไม่เหมือนเดิม แต่ความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะหมวดพลังงาน แล้วขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นโจทย์ของนโยบายยังไม่เปลี่ยน คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้เศรษฐกิจโตไปได้ต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กลับกันหากไม่ดูแลเรื่องเงินเฟ้อ การมีนโยบายคการเงินที่ผ่อนคลายมากอาจไม่จำเป็นเหมือนในอดีต ซึ่งคณะกรรมการ กนง.กังวลกระทบเรื่องปากท้อง การท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นกลไกการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจเข้ามาช่วยในจุดนี้ได้บางส่วน
ส่วนการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะสะท้อนกับกระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย ตอนนี้เสถียรภาพเราไม่มีปัญหา สิ่งที่เราต้องดูคือเรื่องของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เสถียรภาพการเงิน ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของไทย ควรเป็นแบบไทย ไม่ใช่ตามต่างชาติ ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ช้าเกินไปก็ไม่ดี เร็วไปก็ไม่ดี เหมือนการเหยีบคันเร่งกับการแตะเบรก ที่ผ่านมานโยบายการเงินเราผ่อนปรนมากหากเทียบกับภูมิภาค ระยะต่อไปเราจึงต้องค่อย ๆ ถอดคันเร่งแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยแม้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนก็ต้องดูแล แต่ถ้าไม่ทำอะไรผลกระทบต่อประชาชนจะยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ เพราะค่าใช้จ่ายในชีวิตของเขาจะเพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่างกันถึงประมาณ 7 เท่าตัว
ผู้ว่า ธปท. ย้ำให้ตัวเลขสำคัญ ก่อนเกิดโควิด หลายคนประเมินว่าเศรษฐกิจจะโตได้ 3% แต่พอเกิดโควิดมา เศรษฐกิจติดลบ 6% ถัดมาเจอเรื่องวิกฤต ยูเครน-รัสเซีย จากเดิมเงินเฟ้อคาดไว้ 1% แต่สถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันพุ่งไปถึง 6.2%
นอกจากนี้ ผู้ว่า ธปท. ระบุด้วยว่า ยังไม่เชื่อว่าปัจจัยที่มากระทบเศรษฐกิจในขณะนี้ จะทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจตามมา แต่ยอมรับว่ามีความกังวลในเรื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญ สร้างการจ้างงาน จำนวนมาก หากไม่ฟื้นกลับมาเต็มที่ก็จะมีปัญหา แต่ล่าสุดได้เริ่มมีสัญญาณการเปิดประเทศแล้ว ก็เชื่อว่าจะเริ่มปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น.- สำนักข่าวไทย