กรุงเทพฯ 18 พ.ค.- บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ยืนยันไม่ปิดกิจการ และยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565
บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK ออกแถลงการณ์การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ซึ่งกำหนดรายละเอียดในกรณีการขออนุญาตยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทประกันวินาศภัย บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้พิจารณาข้อดี ข้อเสีย และความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อดูแลผู้เอาประกันภัยและคู่ค้าอย่างเต็มความสามารถ
บริษัทฯ จึงได้ยื่นคำขอความยินยอมในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ต่อสำนักงาน คปภ. ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ต่อมา ภายหลังจากที่สำนักงาน คปภ. ได้พิจารณาคำขอดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2565 สำนักงาน คปภ. จึงได้ยินยอมให้บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้ โดยบริษัทฯ ต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลภายใน 5 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 และ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯแล้ว โดยศาลล้มละลายกลางได้กำหนดวันนัดไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในวันที่ 15 ส.ค.65
สำหรับการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ เพื่อการแก้ไขปัญหาภาระหนี้ค่าสินไหมทดแทนของผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีการที่กฎหมายรองรับและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยบริษัทจะดำเนินธุรกิจตามปกติอย่างต่อเนื่องในระหว่างที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมถึงการให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรรมธรรม์ประกันภัยต่าง ๆ เช่น ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและภาคบังคับ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันขนส่งทางทะเล โดยบริษัทจะดูแลค่าสินไหมทดแทนตามที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ และชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกียวข้องกับการดำเนินธุรกิจตามทางการค้าปกติ
ทั้งนี้ ในปี 2564 บริษัทฯ ได้รับประกันภัย Covid -19 แบบเจอจ่ายจบ และแบบ 2 in 1 รวมประมาณ 2 ล้านกรมธรรม์ โดยมีเบี้ยรับจากประกันภัยรวมจำนวน 661 ล้านบาท ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถในการดูแลผู้เอาประกันและจ่ายสินไหมโควิดให้กับผู้เอาประกันที่ติดเชื้อ Covid-19 ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 11,875 ล้านบาท โดยนำเงินจากกำไรสะสมทั้งหมดมาจ่ายชำระสินไหม Covid-19
อย่างไรก็ตาม จากการระบาดของ Covid -19 ในวงกว้างและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็ว แต่อาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการ
ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นมา มีจำนวนผู้เอาประกันมายื่นเคลมสินไหมโควิดเป็นจำนวนมาก ทำให้มีจำนวนเคลมสินไหม Covid-19 คงค้างอีกประมาณ 350,000 รายการ คิดเป็นค่าสินไหมประมาณ 30,000 ล้านบาท เมื่อนับรวมสินไหม Covid-19 ที่จ่ายไปแล้วทั้งหมดจะเท่ากับ 41,875 ล้านบาท คิดเป็นการจ่ายสินไหมที่สูงถึง 63 เท่าของเบี้ยประกันภัยรับ หรือ 6,300% และสูงกว่าการจ่ายสินไหมประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่ Covid-19 ถึงเกือบ 100 เท่า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขภาระค่าสินไหม Covid-19 ที่มีจำนวนมาก โดยการสรรหานักลงทุน เพื่อเพิ่มความสามารถทางการเงินในการชำระค่าสินไหม Covid-19 ซึ่งแม้ว่าจะมีนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจหลักของบริษัทฯ เนื่องจากมีผลประกอบการที่ดีต่อเนื่องมาโดยตลอดก็ตาม แต่สินไหม Covid-19 ที่ปัจจุบันสูงกว่า 41,875 ล้านบาท เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุน
บริษัทฯ มุ่งมั่นและพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา โดยกระบวนการฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงทางออกเดียวที่เหมาะสมที่สุดที่จะแก้ไขปัญหาในครั้งนี้ได้ และจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หากบริษัทฯ ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทฯ จะต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัย และถูกปิดกิจการในท้ายที่สุด ส่งผลให้สินไหม Covid-19 หลายหมื่นล้านบาท ต้องตกเป็นภาระแก่กองทุนประกันวินาศภัย อันจะเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์ทางการเงินของกองทุนประกันวินาศภัยวิกฤตยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากในช่วงระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา
กองทุนประกันวินาศภัย ได้รับภาระให้ความช่วยเหลือเจ้าหนี้ของบริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยไปแล้วถึง 4 ราย ทำให้มีแนวโน้มสูงที่กองทุนประกันวินาศภัยจะขาดสภาพคล่องจนไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าสินไหมแทนบริษัทประกันวินาศภัยที่ต้องปิดกิจการซึ่ง ณ ปัจจุบันมียอดหนี้สูงกว่าสองหมื่นล้านบาท นอกจากนี้ ผู้เอาประกันของบริษัทฯ จำนวนกว่า 2.5 ล้านฉบับ จะได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ ของบริษัทฯ รวมถึงพนักงานเกือบ 2,000 คน และคู่ค้าต่างๆ จะไม่ได้รับชำระหนี้และสูญเสียรายได้ ทางบริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เพื่อให้บริษัทฯ ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปอย่างต่อเนื่องและปรับโครงสร้างการชำระหนี้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนและแก้ไขฐานะการเงิน ทั้งนี้ ความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในครั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและการให้ความร่วมมือของทุกฝ่าย
บริษัทฯ ขอยืนยันว่าบริษัทฯ มีเจตนาที่ดีในการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สินไหม Covid-19 โดยการฟื้นฟูกิจการจะเปิดโอกาสให้บริษัทฯ และผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 ได้เจรจาร่วมกัน เพื่อหาแนวทางในการชำระหนี้ที่เหมาะสมให้กับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 และเป็นแนวทางที่ยอมรับได้ของทุกฝ่าย กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะคุ้มครองให้ผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 ได้รับการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่บริษัทฯ ต้องปิดกิจการอย่างแน่นอน และกระบวนการฟื้นฟูกิจการจะให้ความมั่นใจได้ว่าผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 จะได้รับชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้มีการยอมรับร่วมกัน โดยผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อ Covid-19 ที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้จะมีโอกาสได้พิจารณาและลงมติเกี่ยวกับแผนฟื้นฟูกิจการภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
สำหรับผู้เอาประกันภัยประเภทอื่น เช่น ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจและภาคบังคับ ประกันอัคคีภัย ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันขนส่งทางทะเล บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลการรับประกันและจ่ายสินไหมสำหรับผู้เอาประกันดังกล่าวจนสิ้นสุดกรมธรรม์ บริษัทฯ ขอให้ความมั่นใจว่าบริษัทฯ จะยังคงให้ความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยตามปกติ และรักษาคุณภาพ ความสะดวกรวดเร็ว ในการให้บริการดังเดิม โดยบริษัทฯ ขอเรียนว่าหากไม่นับรวมภาระหนี้ค่าสินไหม Covid-19 ที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างการชำระหนี้ภายใต้กระบวนการฟื้นฟูกิจการนั้น บริษัทฯ ยังคงมีกระแสเงินสดเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจทางการค้าปกติ และจะยังคงดูแลคู่ค้าต่าง ๆ ได้แก่ อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล ตัวแทน นายหน้า ตามการดำเนินธุรกิจการค้าตามปกติ .-สำนักข่าวไทย