ประจวบฯ 30 เม.ย. – รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เผยรถไฟทางคู่สายใต้นครปฐม- ชุมพร คืบหน้ากว่าร้อยละ 90 ชี้แจง งานโยธาใกล้แล้วเสร็จ เหลือเพียงระบบอาณัติสัญญาณ คาดเปิดบริการประชาชน ต้นปี 67 นั่งรถไฟกรุงเทพฯ -หัวหิน ใช้เวลาเพียง 2.30 ชั่วโมง
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม-ชุมพร ว่าโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ล่าสุด มีความคืบหน้า ณ เดือนมีนาคม 2565
ดังนี้ 1) ช่วงนครปฐม – หัวหิน ระยะทาง 169 กม. สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล คืบหน้า 97.08 % ล่าช้ากว่าแผน1.20% สัญญาที่ 2ช่วงหนองปลาไหล – หัวหิน คืบหน้า 94.82% ล่าช้ากว่าแผน 0.16% ส่วนสัญญาที่ 3 ช่วงหัวหิน – ประจวบฯ ระยะทาง 84 กิโลเมตร คืบหน้า 99.94% ช่วงประจวบฯ – ชุมพร ระยะทาง 167 กม. สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบฯ – บางสะพานน้อย คืบหน้า 85.07% สัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย – ชุมพร คืบหน้า 87.12% สำหรับสัญญาที่ 6 งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคมแผนงานสะสม 73.23% ผลงานสมสะสม 27.65% ล่าช้ากว่าแผน 45.57%
อย่างไรก็ตามกระทรวงคมนาคม จะเร่งรัดการก่อสร้าง ส่วนของงานโยธาให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2565 ส่วนระบบอาณัติสัญญาณ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2566 ก่อนจะสามารถเปิดให้บริการได้ช่วงต้นปี 2567 ทำให้จากนี้ อีก1-2 เดือน การเดินรถไฟสายใต้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟรางคู่ทำให้การเดินรถล่าช้า จะเริ่มกลับมาเร็วขึ้นโดยจะมีการทยอยคืนพื้นที่เป็นระยะ และเมื่อโครงการเสร็จสมบูรณ์จะทำให้การโดยสารรถไฟเส้นทางท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ-หัวหิน ใช้เวลาน้อยลงเหลือเพียง 2ชั่วโมงครึ่ง จากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาเดินทางถึง 5 ชั่วโมง
ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางรางยังชี้แจงว่า โครงการนี้ ล่าช้ามานานกว่า 1 ปี เนื่องจากประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ซึ่งกรมบัญชีกลาง ตรวจสอบแล้ว ให้สิทธิขยายระยะเวลาการก่อสร้างเนื่องจากมีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ทำให้ถือว่า การก่อสร้างยังอยู่ตามเกณฑ์ที่กำหนดแม้ว่าผู้เหมาจะดำเนินการล่าช้าก็ไม่ต้องถูกปรับแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางรางยังได้ดำเนินการโครงการศึกษาจัดทำระบบประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานการขนส่งทางรางในแต่ละสายทางของประเทศ เพื่อยกระดับระบบราง ของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล ส่งเสริมให้ระบบราง เป็นโครงข่ายการเดินทางและขนส่งหลักของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางในระดับภูมิภาคต่อไปในอนาคต ในการดำเนินโครงการได้มีการจัดทำตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อใช้ในการกำกับติดตาม ระบบรางของประเทศไทยให้มีคุณภาพการบริการที่ดีและมีความปลอดภัย โดยมีตัวชี้วัดระดับหน่วยงานกำกับดูแลระบบขนส่งทางราง (Regulatory Indicator :RI) โดยแบ่งเป็น 5 ด้าน คือประสิทธิภาพของระบบ /ประสิทธิภาพด้านการบริการ /ประสิทธิภาพด้านการดำเนินงาน /ความปลอดภัยในการดำเนินงาน /และด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งจัดทำระบบกำกับประเมินประสิทธิภาพระบบรางที่สามารถใช้งานได้สะดวกไม่เพิ่มภาระแก่หน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางราง
ขณะเดียวกัน กรมการขนส่งทางรางยังได้จัดกิจกรรมประกวด “สถานีดีพร้อม” ภายใต้แนวคิด “กรมรางสร้างสุข ด้วยคุณภาพดีพร้อม DRT creates happiness of stations” เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการขนส่งทางรางสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบรางให้เป็นแกนหลักในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ โดยมีสถานีรถไฟเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 43 สถานี แบ่งเป็น กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟ ทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี โดยจะมีการประเมินโดยรวมทั้งหมด 8 ด้านประกอบไปด้วย
เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการที่จอดรถ ทางเข้า – ออก ในการรองรับ การใช้บริการ การจำหน่ายบัตรโดยสาร, ด้านการเชื่อมต่อ ,ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์, ด้านความปลอดภัย ซึ่งในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2565 นี้ จะมีการตรวจประเมินคุณภาพทุกสถานีที่เข้าร่วมประกวดเพื่อคัดเลือกอย่างเข้มข้น หลังจากนั้นจะมีการตัดสินการประกวดและมอบรางวัลในเดือนกรกฎาคม 2565 ต่อไป.-สำนักข่าวไทย