กรุงเทพฯ 26 เม.ย.-บอร์ดตลาดทุน เห็นชอบร่างแผนพัฒนาฯ ปี 65-70 เดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รองรับ Mega Trends และนโยบาย “พลิกฟื้นประเทศไทย” ของภาครัฐ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ครั้งที่ 1/2565 วานนิ้ ( 25 เม.ย.) ที่ประชุมเห็นชอบทิศทางของร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 (ปี 2565 – 2570) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ตลาดทุน (กำลัง 4) เพื่อการพลิกฟื้นทางเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างแข็งแรง”
โดยวิสัยทัศน์ทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) สานต่อตลาดทุนให้เป็นผู้นำระดับภูมิภาค (2) ส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เติบโตอย่างยั่งยืน (3) สนับสนุนทุกภาคส่วนให้ปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และ (4) สร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี (Financial well-being)
ทั้งนี้ ร่างแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 มีพันธกิจครอบคลุม 5 ด้าน ได้แก่ (1) ตลาดทุนเพื่อการแข่งขันได้ (2) ตลาดทุนเพื่อความยั่งยืน (3) ตลาดทุนดิจิทัล (4) ตลาดทุนเพื่อความมั่นคงทางการเงิน และ (5) ตลาดทุนที่ทุกฝ่ายได้ใช้ประโยชน์/เข้าถึงได้
สำหรับยุทธศาสตร์ที่มีความครอบคลุมแนวโน้มและทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลก (Mega Trends) ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบการกำกับดูแลและพัฒนาภาคตลาดทุนของประเทศในอนาคต นำไปสู่การมีแผนพัฒนาตลาดทุนในระยะต่อไป ที่จะเข้ามามีบทบาทพัฒนาตลาดทุนไทยในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพใน 5 ด้าน ได้แก่
- ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของทุกภาคส่วนในตลาดทุนไทยและระบบเศรษฐกิจ (Competitiveness)
- ยุทธศาสตร์ที่ 2 ตลาดทุนที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility)
- ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริม ประยุกต์ และใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในตลาดทุน (Digitalization)
- ยุทธศาสตร์ที่ 4 ตลาดทุนไทยส่งเสริมความยั่งยืนของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว (Sustainable Capital Market)
- ยุทธศาสตร์ที่ 5 การสร้างผลลัพธ์ทางการเงินที่ดี รวมถึงการสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ โดยมีความเสี่ยงอย่างเหมาะสม (Financial well-being) ทั้งนี้ ได้มีการตอบ 9 คำถามต่อการก้าวขึ้นสู่แผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 (ปี 60 – 64) ในระยะสิ้นแผน เพื่อกระทรวงการคลังจะได้นำเสนอรายงานดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 17 มาตรการย่อย และแผนงานสนับสนุน 64 แผนงาน โดยมีแผนงานที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 45 แผนงาน (70% ของทั้งหมด) แผนงานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ 19 แผนงาน โดยสรุปการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยเป็นตามเป้าหมายส่วนใหญ่ ส่วนที่ต่ำกว่าเป้าหมายบางส่วนก็เป็นผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ในส่วนการแก้ไขอุปสรรคและข้อติดขัดด้านกฎหมาย โดยในระยะเวลา 5 ปี ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเสนอการปรับปรุงกฎหมายเข้าสู่กระบวนการพิจารณาหลายฉบับ แม้ว่ากฎหมายบางฉบับจะยังไม่มีผลบังคับใช้ได้ทันในช่วงเวลาของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 แต่ก็มีความคืบหน้าตามกระบวนการนิติบัญญัติอย่างต่อเนื่อง โดยกฎหมายที่มีผลบังคับใช้แล้ว ได้แก่ การแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ส่วนกฎหมายที่อยู่ระหว่างพิจารณา เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การแก้ไขพ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด และการแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต
ที่ประชุมยังได้มีการสรุปมาตรการทางการเงินและตลาดทุนที่มีส่วนในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และมาตรการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป
ในส่วนมาตรการฯ ซึ่งเป็นการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ องค์กร และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงินและตลาดทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อมในภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม การค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการและประชาชน รวมถึงความผันผวนทางการเงินและตลาดทุน และการดำเนินมาตรการเพื่อรองรับนโยบายของภาครัฐในระยะต่อไป ภายใต้หลักการ “พลิกฟื้นประเทศไทย”
ทั้งนี้ มาตรการฯ จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของรายงานสรุปผลของแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 3 โดยการรายงานสรุปมาตรการฯ แบ่งออกเป็นมาตรการที่ดำเนินการแล้วในปี 63 – 64 และมาตรการที่จะดำเนินการในปี 65 และในระยะต่อไป สรุปได้ ดังนี้
มาตรการที่ดำเนินการแล้วในปี 63 – 64 ประกอบด้วย
(1) มาตรการทางภาษี อาทิ มาตรการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของผู้ประกอบการ SMEs เป็นต้น
(2) มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดทุนตลาดเงิน อาทิ มาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องให้กับสถาบันที่ให้ความช่วยเหลือแก่กองทุนรวมตราสารหนี้ (MFLF) ที่ประสบปัญหาจากการเร่งไถ่ถอนของนักลงทุน มาตรการ Circuit Breaker Ceiling & Floor และ Short Selling เป็นต้น
(3) มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ อาทิ มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ โครงการจับคู่กู้เงิน เป็นต้น
(4) มาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ร่วมตลาด อาทิ กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield bond fund) เพื่อช่วยเหลือผู้ออกตราสารหนี้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง Private REITs เพื่อช่วยผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้สามารถขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อระดมทุนได้เร็วขึ้น ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REITs with Buy Back Condition) เพื่อช่วยผู้ประกอบการหรือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคโควิด-19 เป็นต้น
(5) มาตรการด้านการประกันภัย ประกอบด้วยมาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับประชาชนและผู้ประกอบการ และมาตรการบรรเทาผลกระทบสำหรับบริษัทประกันภัยและคนกลางประกันภัย
สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการในปี 65 และในระยะต่อไป ภาครัฐและหน่วยงานภาคีเครือข่ายมีแผนการที่จะดำเนินมาตรการใน 5 ด้านข้างต้นในปี 65 และในระยะต่อไป เพื่อรองรับนโยบาย “พลิกฟื้นประเทศไทย” ของภาครัฐ โดยเป็นการสานต่อมาตรการที่ดำเนินการอยู่แล้วเดิมเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งการออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคการเงิน ตลาดทุน และระบบเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน อาทิ การขยายระยะเวลามาตรการสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการให้ REIT Buy-backมาตรการ BSF มาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างนายจ้างที่ประสบภาวะวิกฤตด้วยการขยายเวลาการนำส่งเงินเข้ากองทุนเลี้ยงชีพ ตลอดจนการติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงเชิงระบบอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น. -สำนักข่าวไทย