กรุงเทพฯ 23 เม.ย.- PEA เข้าร่วมเสวนางาน IEEE PES DAY 2022 หัวข้อ “พลังขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ยั่งยืน” งานนี้จัดขึ้นเพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้านนโยบายและทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานและอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย
นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมเสวนางาน IEEE PES DAY 2022 หัวข้อ “พลังขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ยั่งยืน” (Powering a Sustainable Future) ณ ห้องประชุมชั้น 12A อาคารวัฒนวิภาส อาคาร B การไฟฟ้านครหลวง
IEEE PES – Thailand และสมาคมสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE Thailand Section) ร่วมจัดงาน IEEE PES DAY 2022 มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านนโยบายและทิศทางการพัฒนาด้านพลังงานและอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย
ในปีนี้มีการเสวนาในหัวข้อเรื่อง “พลังขับเคลื่อนสู่อนาคตที่ยั่งยืน” (Powering a Sustainable Future)” โดยได้รับเกียรติจากผู้บริหารขององค์กรที่เป็นผู้นำด้านพลังงานมาร่วมการเสวนาในครั้งนี้ประกอบด้วย
– นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
– นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
– นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง
– นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)
ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ใช้เทคโนโลยีด้าน Smart grid เป็นแผนในการควบคุมระบบจ่ายไฟฟ้าให้สามารถตอบสนองต่อการผลิตไฟฟ้าจากการใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยที่ระบบยังมีความมั่นคงเชื่อถือได้และมีคุณภาพ ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการสนับสนุนการทำให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามนโยบายภาครัฐ นอกจากนั้น PEA ยังได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของ PEA ได้แก่ SCADA,SCPS (Substation Control and Operation System), AMI, Microgrid, EV Charger ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคง ทำให้ระบบของ PEA มีความน่าเชื่อถือได้ และมีคุณภาพไฟฟ้าสูง นอกจากนี้ PEA สนับสนุนนโยบายให้ผู้บริโภคเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า (Prosumer) ได้แก่ โครงการภาครัฐรับซื้อพลังงานส่วนเกินจาก Solar Rooftop ในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับภาคประชาชน และโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาสำหรับกลุ่ม โรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง) และโครงการ ERC Sandbox ระยะที่ 1
สำหรับการปรับปรุงและพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีโครงข่าย Smart grid Smart meter ปัจจุบันอยู่ในแผนการขับเคลื่อนดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ระยะปานกลาง พ.ศ. 2565 – 2574 ประกอบด้วยการตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงาน การพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียน ระบบไมโครกริดและโปรซูเมอร์ (Microgrid & Prosumer) ระบบกักเก็บพลังงาน และ การบูรณาการยานยนต์ไฟฟ้า
นอกจากนี้ PEA ได้ดำเนินการโครงการนำร่องระบบการบริหารจัดการการตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้า และระบบบริหารจัดการพลังงานแบบอัตโนมัติ (Automated Demand Response) ร่วมกันทั้ง 3 การไฟฟ้า และ สนพ. มาตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้ใน ปี 2565 – 2566 จะเป็นการดำเนินการโครงการนำร่องต่อเนื่อง โดยเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนเสมือนจริง สำหรับโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายขนาดเล็กมาก (Microgrid) PEA ได้ดำเนินโครงการไมโครกริดในพื้นที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการดำเนินงานแผนงานไมโครกริดที่ อ.เบตง จ.ยะลา และ เกาะพะลวย จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อเพิ่มความเชื่อถือได้และคุณภาพของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ ชะลอการลงทุนด้านการก่อสร้างระบบสายส่งไปยังพื้นที่ห่างไกล ลดหน่วยสูญเสียในระบบจำหน่าย ลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ช่วยรักษาความน่าเชื่อถือได้ (Reliability) ในการจ่ายไฟเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าได้มากขึ้น โดยจะช่วยชะลอการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าได้