กรุงเทพฯ 4 เม.ย.-ประธานหอการค้าไทยขอให้รัฐบาลใช้นโยบายภาครัฐ เช่น คนละครึ่งต่อไปถึงสิ้นปีนี้ ย้ำช่วยเหลือระดับรากหญ้าให้เข้มแข็ง เชื่อหากนำเงินที่เหลือ 70,000 ล้านบาทกระตุ้น เศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้แน่ร้อยละ 3.5 ขึ้นไป พร้อมวอนรัฐทบทวนแนวทางจัดเก็บภาษีที่ดินใหม่ ชี้อาจซ้ำเติมภาคเอกชนโดยเฉพาะในเมืองมากเกินไป พร้อมขานรับใครเป็นผู้ว่า กทม. ทำงานร่วมกันได้ไม่มีปัญหา
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายของหอการค้าไทย ยังคงร่วมทำงานกับภาครัฐเช่นเดิม ซึ่งเศรษฐกิจของประเทศขณะนี้ ยังคงได้รับผลกระทบใหญ่ จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่มีผลต่อราคาพลังงาน ทำให้ราคาสินค้าหลายรายการของไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้มาตรการในการช่วยเหลือประชาชนของรัฐบาลเวลานี้ มีส่วนในการลดภาระค่าครองชีพ แต่ไม่ได้เป็นการเพิ่มรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวเท่าที่ควร จำเป็นจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม โดยเฉพาะในการเตรียมตัวเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว และประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น โดยเฉพาะเร่งเดินหน้าฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับประชาชนให้ครบ 70% เพื่อจะได้เปิดประเทศเร็วขึ้นตั้งแต่ 1 พฤษภาคมนี้ โดยพร้อมสนับสนุนการทำงาน ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เชื่อมโยงระหว่างการค้ากับการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ภาครัฐควรต่อโครงการ “คนละครึ่ง” ไปจนถึงสิ้นปี ส่วนวงเงินในแต่ละเฟสนั้น อย่างน้อยเฟสละ 1,500 บาทตามเดิม เพราะเป็นมาตรการที่ประชาชนได้ประโยชน์จริง และยังช่วยไปถึงร้านค้าเล็กๆ ซึ่งเชื่อว่าจะลดแรงกดดันในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ด้วย ขณะเดียวกัน เพื่อเตรียมพร้อมรองรับความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก รัฐบาล ต้องเร่งขยายเพดานหนี้สาธารณะ เพราะขณะนี้เพดานหนี้ใกลเต็ม 60% แล้ว เพื่อให้ผ่านสภาฯ ขยายเป็น 70% โดยเร็ว เพราะเงินกู้เดิมเหลือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ที่จะต้องเร่งนำมาใช้จ่ายเพิ่มเติม ผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจ ขยายตัวได้ตามเป้าหมาย 3.5% ซึ่งขณะนี้ อยู่ในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงต้องเตรียมเม็ดเงินไว้รับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ ภาคเอกชนขอขยายเวลาการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแบบเต็มจำนวนออกไปก่อน อาจจะใช้วิธีการทยอยขึ้นเป็นขั้นบันได เพราะหลายธุรกิจอาจได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม เนื่องจากภาษีใหม่เป็นการประเมินจากพื้นที่ โดยไม่ได้พิจารณาจากรายได้ที่ยังไม่กลับมา รวมไปถึงประชาชนเอง รายได้ก็ยังไม่กลับมาปกติ ก็จะมีภาระเพิ่มขึ้น เงินในกระเป๋าที่หายไปจะกระทบกำลังซื้อ
ส่วนประเด็นการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น โดยจะต้องใช้กลไก ของ ไตรภาคีแต่ละจังหวัด เป็นผู้พิจารณาเป็นหลัก ไม่งั้นจะกลายเป็นความผิดพลาด ที่กระทบกับเศรษฐกิจโดยรวม เพราะที่ผ่านมา มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ จึงต้องดูความจำเป็นรายจังหวัด ขณะเดียวกันจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งรัฐบาล ต้องเข้าไปดูแนวทางเยียวยากรณีการสั่งตรึงราคาสินค้าด้วย และขณะนี้อยู่ในช่วงการหาเสียงของผู้สมัครในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในช่วงหาเสียงและไม่ว่าใครจะได้รับการคัดเลือกมาดำรงตำแหน่งนี้ ภาคเอกชนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับผู้ว่า กทม คนใหม่อย่างเต็มที
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทยกล่าวว่าในมุมของภาคเอกชน ขณะนี้ ต้นทุนการผลิตสินค้าอื่นๆ ก็ปรับขึ้นทั้งราคาน้ำมัน วัตถุดิบ หากมีการขึ้นค่าแรงงาน เข้ามาเพิ่มเติมอีก ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี อาจจะไปไม่รอด ภาครัฐ จึงจำเป็นจะต้องออกมาตรการมากระตุ้นกำลังซื้อ รวมถึงการควบคุมราคาสินค้าที่ทำได้ทันที ส่วนในระยะต่อไป กระบวนการผลิตหากไปได้ตามปกติ หรือ มีนวัตกรรมมาพัฒนาให้ต้นทุนหารผลิตต่อหน่วยลดลง ซึ่งเป็นไปตามปกติของภาคธุรกิจ อาจจะมีโอกาสที่ ร่วมกันพิจารณา 3 ฝ่าย ผ่าน ไตรภาคี ก็อาจจะมีโอกาสปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ในอนาคต แต่มองว่า ขณะนี้ ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะภาคธุรกิจกำลังถูกกระทบหนักจากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย