นนทบุรี 15 มี.ค.- ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ย้ำแม้พาณิชย์จะดูแลสินค้าแต่หากสินค้าขึ้นหรือลงตามเหตุการณ์ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมพิจารณาด้วย ชี้กระทรวงพาณิชย์พยายามของบเพื่อมาชดเชยผลกระทบแต่เจอปัญหาการใช้งบ เตรียมหารือนายกรัฐมนตรีสั่งการทุกส่วนงานเพื่อเร่งช่วยเหลือ
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เฝ้าติดตามราคาสินค้าและราคาปุ๋ยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกรณีที่สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย มีหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอปรับราคาขายปุ๋ยเคมีโดยอ้างถึงปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ต้นทุนนำเข้าปุ๋ยปรับสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมัน ค่าขนส่ง และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศนั้น ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในทำการประเมินข้อมูลต้นทุนและราคาดังกล่าวทันที
ทั้งนี้ การประเมินต้นทุนสินค้าไม่เฉพาะกลุ่มนี้เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้พิจารณาต้นทุนสินค้าหมวดสำคัญมาอย่างต่อเนื่องรวมทั้งประสานงานกับทุกกระทรวงและฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดทั้งผู้ประกอบการและสมาคมต่างๆ ดังนั้น การอนุญาตให้ปรับราคาจำหน่ายปุ๋ยหรือไม่จะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไปโดยคำนึงถึงต้นทุนวัตถุดิบปุ๋ยในตลาดโลกที่สูงขึ้น ผลกระทบต่อพี่น้องเกษตรกรและแนวทางเยียวยาผลกระทบ ควบคู่กันไป ดังนั้น การแก้ปัญหาจะไม่ใช่เฉพาะแค่กระทรวงพาณิชย์เท่านั้น
“แนวทางการช่วยเหลือจะถึงเกี่ยวข้องกับงบประมาณเป็นหลัก ดังนั้น จะต้องหารือ 2 หน่วยงานที่ไม่ใช่สังกัดกระทรวงพาณิชย์ คือ สำนักงบประมาณและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์เป็นสำคัญ ซึ่งการใช้ที่จะงบชดเชยเกี่ยวกับภาวะวิกฤตต้องขอใช้งบกลาง แต่สำนักงบก็บอกว่าไม่ใช่หน้าที่กระทรวงพาณิชย์ทั้งที่นายกรัฐมนตรีสั่งการกระทรวงพาณิชย์ แต่ก็ได้ประสานให้กระทรวงเกษตรฯเสนอตามข้อแนะนำสำนักงบฯซึ่งกระทรวงเกษตรก็เสนอแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับการอำนวยการจากสำนักงบประมาณ และเมื่อพิจารณาใช้งบเงินกู้ก็ติดขัดความเห็นของสภาพัฒน์ฯที่แย้งว่าการขอใช้เงินชดเชยให้เกษตรกรที่ซื้อปุ๋ยนั้นไม่ตรงกับจุดประสงค์ของการใช้งบประมาณ ดังนั้น เรื่องนี้คงต้องหาทางออกให้เกษตรกรและทุกฝ่ายซึ่งท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะได้นำเรียนนายกรัฐมนตรีต่อไป ” นางมัลลิกา กล่าว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องช่วยวิกฤตตรงนี้เพื่อแก้ให้ตรงจุดและดูจากข้อเท็จจริงต้นทุนราคา แต่ก่อนหน้านี้คือตอนที่ไม่มีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน การช่วยเกษตรกร ซึ่งช่วยมาโดยตลอด เช่น การลดราคาปุ๋ยซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการสมาคมและทุกฝ่ายมา 2 ปีโดยไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดินแต่พอเดินหน้าในปีที่ 3 นี้มันมีวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนเข้ามากระแทกซ้ำโดยกระทรวงพาณิชย์อยู่ปลายน้ำ ทำให้เรื่องนี้ต้องสะท้อนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบและบูรณาการในหน่วยงานซึ่งสังกัดกระทรวงการคลังและสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย และจากสถิติ ไทยนำเข้าปุ๋ยไทยนำเข้าจากจีนมากที่สุด ร้อยละ 22.5 ซาอุดีอาระเบีย ร้อยละ 14.6 มาเลเซีย ร้อยละ 8.8 และรัสเซีย ลำดับที่ 4 ร้อยละ 7.7 .-สำนักข่าวไทย