กรุงเทพฯ 18 ก.พ.- ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ หรือ REIC เผยภาพรวมตลาดอสังหาฯ ปี 64 ออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน-เปิดตัวโครงการใหม่ ต่ำสุดในรอบกว่า 10ปี โอนลดลงร้อยละ 21 ต่ำสุดรอบ 7 ปี ขณะที่ปี 65 คาดว่าสถานการณ์ จะดีขึ้น เข้าสู่ช่วงฟื้นตัว ดัชนีรวมตลาด คาดขยับขึ้นร้อยละ 14.2
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เปิดเผยถึงสถานการณ์ธุรกิจที่อยู่อาศัยในปี 2564 และแนวโน้มในปี 2565 โดยระบุว่า ภาพรวมภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปี 64 ที่น่าสนใจ พบว่าการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั่วประเทศ มีเพียง 6.6 หมื่นหน่วย ลดลงจากปี 63 ร้อยละ 23.9 ต่ำสุดในรอบ 15 ปี
ส่วนการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 4.6 หมื่นหน่วย ลดลงจากปี 63 ร้อยละ 29.6 มูลค่าที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ 1.9 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 63 ร้อยละ 42.8 ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปีนับตั้งแต่ปีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในปี 64 มีจำนวน 7.7 หมื่นหน่วย ลดลงจากปี 63 ร้อยละ 30.5 ต่ำที่สุดในรอบ 11 ปีเช่นเดียวกัน
ด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ปี64 มีจำนวน 2.65 แสนหน่วย ลดลงจากปี 63 ร้อยละ 21.6 ต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัยแนวราบลดลงร้อยละ 25.7 อาคารชุดลดลงร้อยละ 26.6 มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ ปี64 จำนวน 8 แสนล้านบาท ลดลงจากปี 63 ร้อยละ 13.5 โดยเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบลดลงร้อยละ 11 อาคารชุดลดลงร้อยละ 18.5
ด้านสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศปี 64 มีมูลค่า 6.12 แสนล้านบาท ลงจากปี 63 ร้อยละ 0.002 สินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างให้ปี 64 มีมูลค่า 4.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 63 ร้อยละ 5.8
ส่วนแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยปี 65 คาดการณ์ว่า ด้านอุปทานจะขยายตัวเพิ่มขึ้น จะมีการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินประมาณ 8.5 หมื่นหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนจะมีประมาณ 1.05 แสนหน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3
ด้านอุปสงค์คาดว่า จะมีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ 3.32 แสนหน่วย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.1 การโอนกรรมสิทธิ์แนวราบเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 การโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.1
ส่วนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์คาดว่าปี 65 จะมีมูลค่าประมาณ 9.09 แสนล้านบาท มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศ ประมาณ 6.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 และจะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.5
ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้จัดทำดัชนีที่จะสามารถบ่งชี้ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในหมวดที่อยู่อาศัย ในแต่ละช่วงเวลาว่ามีการเปลี่ยนแปลงในอัตราร้อยละเท่าไหร่ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหน่วยงานใดจัดทำมาก่อน พบว่า ในปี 64 ดัชนีรวมตลาดอสังหาฯปรับตัวลดลงร้อยละ 2.9 จากปี 63 และคาดว่าปี 65 ดัชนีรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ จะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 83.8 เพิ่มขึ้นจากปี 64 ร้อยละ 14.2
ดร.วิชัย ย้ำว่า จากการประเมินสถานการณ์ภาพรวมปี 65 จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ๆเพิ่มมากกว่าปี 64 โครงการแนวราบจะมีสัดส่วนมากกว่าอาคารชุด ขณะที่อาคารชุดจะค่อยๆฟื้นตัว จากstock ที่ลดลง ผู้ประกอบการบ้านใหม่จะยังมีโปรโมชั่น ส่วนลดและของแถมเพื่อจูงใจผู้ซื้อแต่จะไม่ลดลง เท่าปี 64 โดยตลาดยังเป็นของผู้ซื้อ จะมีการขยายตัวในกลุ่มการโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง ฐานลูกค้าต่างชาติจะไม่ใช่ลูกค้าหลักของห้องชุด แต่จะเป็นคนไทยที่เป็นกลุ่ม gen y และ gen z ลงมา
อย่างไรก็ตาม ในปี 65 ยังมีสิ่งที่ต้องระวัง หากมีการแพร่ระบาดของ covid จนต้องมีการล็อคดาวน์ ส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ ไม่กระเตื้องขึ้นเท่าที่ควร บ้านมือสองอาจเป็นสินค้าทดแทนบ้านใหม่ การขาดแคลนแรงงานอาจทำให้การก่อสร้างล่าช้า และหากมีการการเกิด NPL ขึ้นมา สถาบันการเงินอาจมีนโยบายสินเชื่อที่เข้มงวดต่ออีกในปี 65 ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ซื้อที่มีความไม่แข็งแรงในสถานะการเงิน.-สำนักข่าวไทย