กรุงเทพฯ 27 ม.ค.-รมว.ทส. คาดสารกำจัดคราบน้ำมันจะทำให้น้ำมันที่รั่วไหลลงทะเล จ.ระยอง สลายตัวได้ใน 5 วัน สั่งการกรมควบคุมมลพิษติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง ส่วนความสับสนเกี่ยวกับปริมาณการรั่วไหล ล่าสุดตรวจสอบแล้ว รั่วไหลจริง 50,000 ลิตร โดยคราบน้ำมันส่วนหนึ่งอาจเคลื่อนสู่ชายฝั่ง
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษติดตามและกำกับการแก้ไขปัญหาของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) อย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับการกำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลจากท่อใต้ทะเลในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง รวมถึงติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เนื่องจากการใช้สารขจัดคราบน้ำมันออกฤทธิ์ทำให้น้ำมันบางส่วนละลายลงน้ำ แม้ไม่มีส่วนใดตกตะกอน แต่น้ำมันที่ละลายจะส่งผลให้น้ำมีสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอนสูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำที่ใกล้ผิวน้ำซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยใต้ทะเล
ทั้งนี้จากที่มีข่าวช่วงแรกว่า น้ำมันดิบรั่วไหลถึง 400,000 ลิตรจนทำให้เกิดความกังวลใจเกี่ยวกับความปลอดภัยต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับรายงานล่าสุดเมื่อเวลา 20.30 น. คืนที่ผ่านมา (26 ม.ค.) ว่า รั่วไหลจริง 50,000 ลิตร โดยเบื้องต้นหน่วยปฏิบัติการใช้สาร Dispersant สำหรับกำจัดน้ำมันที่รั่วไหลไปแล้ว 30,000 ลิตร คิดเป็น 75% ซึ่งน้ำมันที่รั่วเป็นน้ำมัน Murban oil ซึ่งเป็นน้ำมันดิบชนิดเบา สีใส ไม่ดำ จึงไม่น่าจะมีคราบน้ำมันดำลอยไปติดชายฝั่งเหมือนคราวที่ท่อส่งน้ำมันดิบรั่วที่อ่าวพร้าว โดยคาดว่า น้ำมันบนผิวน้ำจะสลายหมดไปเอง จากการระเหยและเจือจางไปในอากาศภายใน 5 วัน
นายวราวุธยืนยันว่า ทันทีที่ได้รับแจ้งจากทางบริษัทน้ำมัน หน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้ “แผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ” ประกอบด้วย
1. คณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน (คปม.) เป็นหน่วยงานสั่งการหลัก
2. กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม / กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม / กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์ประสานงาน
3. กองทัพเรือ / กรมเจ้าท่า จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ
4. กองทัพเรือ / กรมเจ้าท่า / ส่วนราชการจังหวัด / กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน ทำหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ
5. กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยสนับสนุน
ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษทำหน้าที่สนับสนุนข้อมูลพื้นที่ทะเลและชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ คาดการณ์แนวทางการเคลื่อนตัวของคราบน้ำมันเพื่อวางแผนปฏิบัติการจำกัดความเสียหาย และแผนฟื้นฟูสภาพแวดล้อม รวมถึงดูแลกำกับการใช้สารเคมีในการกำจัดคราบน้ำมันที่รั่วไหลออกมา ซึ่งจะต้องเก็บตัวอย่างน้ำที่ใกล้ผิวน้ำเพื่อวัดค่าความเข้มข้นปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน (Petroleum Hydrocarbon, TPH) ตามมาตรฐานที่กรมควบคุมมลพิษกำหนด ไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร ส่วนการปนเปื้อนสารอันตรายอื่นๆ โดยเฉพาะสารปรอทพบว่า มีความเข้มข้นต่ำ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ส่งผลอันตรายต่อมนุษย์
จากการใช้โปรแกรม OIL MAP ซึ่งเป็นแบบจำลองคณิตศาสตร์ที่ใช้ทำนายการเคลื่อนตัวและการเปลี่ยนแปลงสภาพของคราบน้ำมันที่รั่วไหลในทะเลและน้ำจืด โดยอาศัยข้อมูลปริมาณน้ำมัน สภาพทางภูมิศาสตร์ ความเร็วและทิศทางของกระแสลม และน้ำทะเล ล่าสุดพบว่า กลุ่มน้ำมันที่รั่วไหลออกมาอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
นายวราวุธกล่าวต่อว่า ขอฝากความห่วงใยไปยังประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ ชุมชนใกล้เคียง รวมถึงประชาชนชายฝั่งตะวันออกซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ขอให้รักษาสุขภาพ งดเว้นการลงเล่นน้ำทะเลในช่วงนี้ก่อน และหากพบคราบน้ำมัน นอกเหนือจากบริเวณที่คาดการณ์ไว้ สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน 1650 กรมควบคุมมลพิษทันที
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า สั่งการให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพื้นที่รับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชซึ่งจากการที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบบริเวณท่าเรือเทศบาลตำบลบ้านเพ พร้อมทั้งนั่งเรือสำรวจพื้นที่โดยรอบ รวมถึงบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดพบว่า ยังไม่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดจะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพราะผลคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษจากแบบจำลอง OilMap แสดงให้เห็นว่า กลุ่มน้ำมันดังกล่าวอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณหาดแม่รำพึงถึงบริเวณอุทยาแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดในวันที่ 28 มกราคม
ส่วนบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 4 เมื่อค่ำวานนี้ รายงานความคืบหน้าว่า จากการคำนวณแรงดัน (Pressure Balance) พบว่า น้ำมันดิบรั่วไหลประมาณ 20 – 50 ตัน บริษัทฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมันโดยทางเรือ ทางกองทัพเรือภาคที่ 1 ส่งเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพบว่า สามารถควบคุมปริมาณคราบน้ำมันให้อยู่ในวงจำกัด โดยยังคงมีปริมาณน้ำมันอยู่ในทะเลประมาณ 5.3 ตัน .-สำนักข่าวไทย