กรุงเทพฯ17 ม.ค.-บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองจีดีพีจีน ปี 2565 โต ร้อยละ5.0 หลังไตรมาส 4/2564 ขยายตัวต่ำสุดในรอบปีที่ ร้อยละ4.0 (YoY). โดยปี 2564 โต ร้อยละ8.1
บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า เศรษฐกิจจีนทั้งปี 2564 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.1(YoY) สูงกว่าเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.0 (YoY) โดยในไตรมาส 4/2564 เศรษฐกิจเติบโตที่ 4.0 (YoY) นับเป็นการขยายตัวรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดในรอบปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงในปีก่อนหน้า โดยการชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 นี้เป็นผลจากการเผชิญกับประเด็นหนี้และการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนในประเทศซึ่งนำไปสู่การล็อกดาวน์จากการดำเนินนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Covid-Zero) และราคาต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูง ในขณะที่ทางการจีนเลือกใช้นโยบายทางการเงินในการเพิ่มสภาพคล่องและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการประกาศปรับลดสัดส่วนกันสำรองธนาคารพาณิชย์ (RRR) และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) สำหรับการกู้ 1 ปี
ส่วนเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ยังเผชิญแรงกดดันจากภายนอกจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย และความเสี่ยงภายในประเทศที่ยังรุมเร้า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ การยกระดับกฎหมายเข้าควบคุมเศรษฐกิจ (Regulatory Crackdown) ที่น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาด และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนตามแนวคิดเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common Prosperity) อย่างไรก็ดี ในปี 2565 เชื่อว่าทางการจีนจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้ราวร้อยละ 5.0 ผ่านการเริ่มเห็นแนวทางการผ่อนคลายทั้งด้านนโยบายทางการเงินและการคลังของจีนในเชิงรุกมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 (กรอบคาดการณ์ร้อยละ 4.8 – 5.4)
“ปี 2565 เชื่อว่าทางการจีนจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจให้เติบโตได้ราวร้อยละ 5.0 ผ่านการเริ่มเห็นแนวทางการผ่อนคลายทั้งด้านนโยบายทางการเงินและการคลังของจีนในเชิงรุกมากขึ้น โดยในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังของจีนระบุถึงการดำเนินนโยบายการคลังปี 2565 โดยจะออกมาตรการลดภาษีและค่าธรรมเนียมอีกครั้งเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางธุรกิจ และพร้อมเพิ่มค่าใช้จ่ายภาครัฐเพื่อสนับสนุนธุรกิจขยายย่อมเพื่อสร้างตลาดเศรษฐกิจภายในประเทศให้สมบูรณ์ ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBoC) ก็ส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการเริ่มดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างผ่อนคลาย ซึ่งเป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปจากต้นปี 2564 ที่มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการเงินแบบระมัดระวัง” ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ.-สำนักข่าวไทย