นนทบุรี 14 ม.ค.-รัฐมนตรีพาณิชย์เปิดผลวิเคราะห์จากทูตพาณิชย์ทั่วโลกย้ำค่าครองชีพทั่วโลกสูงขึ้นจริงดันให้สินค้าโภคภัณฑ์และการผลิตสินค้าให้ต้นทุนสูงขึ้น เตรียมแผนปฏิบัติการเชิงรุก ช่วยประชาชนทันที
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่าได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์ไทยทั่วโลกถึงสถานการณ์ราคาสินค้า สินค้าโภคภัณฑ์จากทุกภูมิภาคปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต้นทุนการผลิตจนกระทบต่อการครองชีพของคนทั่วโลกด้วยเช่นกัน หากดูเป็นรายประเทศ เช่น สหรัฐ ราคาสินค้าเดือนธ.ค. 64 พุ่งสูงขึ้น 7% เทียบกับธ.ค. 63 นับว่าเพิ่มสูงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี ขณะที่ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้นเฉลี่ย 29.3% อาหารเพิ่มขึ้น 6.3% และสินค้าอื่น 5.5% ส่งผลต่อร้านอาหาร ธุรกิจบริการ เครื่องนุ่งห่ม เฟอร์นิเจอร์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ หากดูลึกลงไปราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นได้รับแรงกดดันจาก
1.วิกฤตห่วงโซ่อุปทานโลก เกิดความล่าช้าและติดขัดตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ คาดว่าจะเป็นปัญหาต่อเนื่องไปตลอดปี 65
2.การขาดแคลนแรงงาน
3.การขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง semiconductors
4.การขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดค้าปลีก
5.สภาวะอากาศที่ผิดปกติในหลายพื้นที่
ขณะที่ประเทศแคนาดาต้องเผชิญกับผลกระทบของปัญหาเงินเฟ้อที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งสัญญาณให้ค่าครองชีพในแคนาดาเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 64 โดยอัตราเงินเฟ้อล่าสุดในเดือน พฤศจิกายน 64 อยู่ที่ระดับ 4.7 ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี2565 ห้างค้าปลีกทยอยปรับเพิ่มราคาสินค้า เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
ส่วนประเทศเคนยาค่าครองชีพในเคนยาปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 30 จากปี 2563 โดยราคาสินค้าอาหารทุกรายการสำคัญ เช่น ขนมปัง น้ำมันพืช ผักและผลไม้ ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ15-25% จากปีก่อน
อิสราเอลอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาขนส่ง เพิ่มขึ้น 3.4% เครื่องตกแต่ง 7.8% อาหารไม่รวมผักและผลไม้ 2.8% การศึกษา 3.2% และที่อยู่อาศัย 2.6%
ชิลีอัตราเงินเฟ้อ ธันวาคม 64 อยู่ที่ร้อยละ 7.2 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี โดยราคาสินค้าส่วนใหญ่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ยกเว้นหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า
ไต้หวัน: ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภค64 ตลอดทั้งปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.96 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี โดย ธค. เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.62 โดยเฉพาะค่าอาหารที่รับประทานนอกบ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.39 สูงสุดในรอบ 81 เดือน อาหารประเภทหม้อไฟ และอาหารเช้าสไตล์จีนเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 4 สำหรับหมวดอื่นๆ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2-3 โดยผลจากรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยมีราคาสินค้าในด้านอื่นๆสูงขึ้นตามจากปัจจัยในต่างประเทศด้วยเช่นกัน ซึ่งได้สั่งการใหเหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดช่วยกันติดตามเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนในแต่ละด้านให้น้อยลงกันต่อไป.-สำนักข่าวไทย