กรุงเทพฯ 10 ธ.ค.-ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนธันวาคม 2564 กระเตื้องขึ้น จากการใช้จ่ายช่วงปีใหม่ แต่คึกคักน้อยกว่าที่คาด ขณะที่ผู้ประกอบการกังวลการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย การจับจ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ปลายปีคึกคักแต่ไม่เป็นไปตามคาด โดยมียอดซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและเกิดจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้น ไม่ใช่เกิดจากกำลังซื้อที่แท้จริง สะท้อนว่ายังต้องการแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสริมเรื่องการยกเลิกกิจกรรมข้ามปีของบางพื้นที่ ที่ส่งผลให้การจับจ่ายปลายปีต้องชะงัก โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกเดือนธันวาคมอยู่ที่ 68.4 ปรับเพิ่มขึ้น 6 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนพฤศจิกายนที่ 62.1
ทั้งนี้ ยังมีบทสรุปการประเมินกำลังซื้อและแนวโน้มการแพร่ระบาดไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนจากมุมมองผู้ประกอบการ” ในเดือนธันวาคม ที่สำรวจระหว่างวันที่ 17-24 ธันวาคม 2564 ว่ายอดขายเพิ่มขึ้นตลอดปีที่ผ่านมา มาจากอันดับ 1 มาตรการการกระตุ้นการจับจ่ายภาครัฐอันดับ 2การจัดโปรโมชั่นของร้านค้า อันดับ 3 การขายผ่านออนไลน์ ส่วนความกังวลต่อการแพร่ระบาดโอไมครอน อันดับ 1 กังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว อันดับ 2 ลูกค้างดการทำกิจกรรมนอกบ้าน อันดับ 3 กังวลต่อมาตรการที่อาจต้องล็อคดาวน์ ส่วนแผนการรองรับหากมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน ร้อยละ 63 ขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 40 ลดค่าใช้จ่าย ลดการจ้างงาน ร้อยละ 30 ดำเนินธุรกิจตามปกติ เว้นแต่ภาครัฐสั่งให้ปิด ขณะที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ ร้อยละ 58 เพิ่มการลดหย่อนภาษีและลดภาระค่าใช้จ่าย ร้อยละ 55 เพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและต่อเนื่อง ร้อยละ 43 ช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงาน
สำหรับ 4 ข้อเสนอต่อภาครัฐ1.ยกระดับความพร้อมของระบบสาธารณสุข อาทิ เร่งการกระจายการฉีดวัคซีน เสริมชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพและราคาเข้าถึงได้ เตรียมยาที่ใช้รักษา และสำรองเตียงผู้ป่วยหนัก 2.มีมาตรการเชิงรุกสำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดให้มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดในแต่ละพื้นที่ รัฐควรมีการปิดเฉพาะพื้นที่ที่เป็นคลัสเตอร์เท่านั้น 3. ช่วยภาคเอกชนและประชาชนลดค่าใช้จ่าย โดยช่วยลดค่าน้ำ ค่าไฟ ลดเงินสมทบประกันสังคม ภาษีป้าย รวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้จากสถาบันการเงิน ดอกเบี้ยบัตรเครดิต ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ไม่มีการค้ำประกัน และพิจารณา ลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการทั้งที่เกี่ยวข้องกับโควิดทางตรงและทางอ้อมและ4. ผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ ช้อปดีมีคืน ควรทำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 ครั้งต่อปี เพื่อสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบรวมกันกว่าแสนล้านบาทตลอดปี-สำนักข่าวไทย