หนุนปลูกพืชพลังงาน สร้างรายได้ให้เกษตรกร-รับโมเดลเศรษฐกิจ BCG

กรุงเทพฯ 17 ธ.ค. – กระทรวงเกษตรฯ พลังงาน ทส. และส.อ.ท. ลงนามความร่วมมือส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานเพื่อการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน สร้างรายได้เกษตรกรและความมั่นคงด้านพลังงาน รวมทั้งสอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG


นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน เพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายสมัย ลี้สกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ลงนามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า จากแนวนโยบายการส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาล กระทรวงพลังงานขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเป็นโครงการนำร่อง ปัจจุบันได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนแล้ว 43 โครงการ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล 16 โครงการ และโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ 27 โครงการ ปริมาณเสนอขายไฟฟ้ารวม 149.50 เมกะวัตต์ ซึ่งกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง และตอบสนองต่อนโยบายด้านพลังงาน ในการช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรมีรายได้อย่างมั่นคง จากการร่วมเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า และการจำหน่ายวัสดุทางการเกษตรเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ยังเล็งเห็นความสำคัญในการนำพลังงานทดแทนไปใช้ในภาคความร้อน เพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีราคาผันผวน อันตอบสนองการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการ รวมถึงกลุ่มเกษตรกรให้ลงทุนติดตั้งระบบผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล เช่น ไม้สับ ชีวมวลอัดเม็ด และการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวลดังกล่าวได้


กระทรวงพลังงานมุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน เพื่อรองรับความเติบโตทางเศรษฐกิจและพัฒนาพลังงานในระดับพื้นที่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561-2580 (AEDP 2018) ซึ่งให้ความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตพลังงานทั้งไฟฟ้าและความร้อนจากวัตถุดิบพลังงานทางเลือกที่มีอยู่ภายในประเทศ เช่น วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม้โตเร็ว และพืชพลังงาน ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2050 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อน จะต้องมีการกำหนดปริมาณ เป้าหมาย และ Zoning ให้สอดคล้องกับศักยภาพ และการจัดสรรพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งกระทรวงพลังงาน จะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินการต่อไป

นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จากเดิมปลูกพืชที่ให้ผลผลิตและผลตอบแทนที่ต่ำ มาเป็นการปลูกพืชพลังงานทางเลือกที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมของพื้นที่ในการเพาะปลูกมากขึ้น ภายใต้หลักการตลาดนำการผลิต รวมถึงส่งเสริมให้มีการรวบรวมวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการนำแผนการขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากตามนโยบาย “Energy For All” มาเป็นกลไกสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเกษตรกร รวมทั้งใช้ประกอบการคาดการณ์ปริมาณความต้องการไม้เศรษฐกิจโตเร็วและพืชพลังงานทดแทนเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าให้มีปริมาณที่เพียงพอและสม่ำเสมอ ทุกหน่วยงานตระหนักถึงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเกษตรกร โรงไฟฟ้าชีวมวล-ชีวภาพ และชุมชน เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านพลังงานให้แก่ประเทศ สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เน้นการพัฒนาใน 3 ด้านคือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ตามนโยบายในการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีความสมดุล ทั้งการลดการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมาปลูกพืชทางเลือกที่ในพื้นที่เหมาะสมและให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นการปลูกพืชพลังงานจึงเป็นทางเลือกที่ดีของเกษตรกรเนื่องจากมีโรงไฟฟ้าเป็นผู้รับซื้อผลผลิตที่แน่นอน

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯ จะเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การขึ้นทะเบียนเกษตรกร จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรตาม Agri-Map ขณะที่กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน จัดทำแผนส่งเสริมและข้อมูลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเชื้อเพลิงจากพืชพลังงานเพื่อผลิตพลังงานความร้อนเพิ่มเติม ข้อมูลความต้องการและวัตถุดิบจากพืชพลังงานในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกจากผลผลิต และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 


สำหรับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าเชิงเศรษฐกิจ สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับไม้เศรษฐกิจโตเร็วที่มีศักยภาพเพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่แหล่งผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน สนับสนุนกล้าไม้ การวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากไม้เศรษฐกิจโตเร็ว ส่วนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะร่วมประสานนโยบายและดำเนินการร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและพัฒนา รวมถึงศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมเกษตรและโรงไฟฟ้าจากพืชพลังงาน สนับสนุนการวิจัย อบรม เผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรและแหล่งผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน โดยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกร/สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมถึงให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สำนักสงฆ์หูตาทิพย์

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์”

ขุดพบ 12 ศพ ในสำนักสงฆ์ลัทธิประหลาด “สอนหู-ตาทิพย์” พระอ้างใช้สอนวิปัสสนากรรมฐาน เบื้องต้นอายัดไว้พิสูจน์ดีเอ็นเอ พร้อมเอาผิดหัวหน้าสำนักสงฆ์ ฐานนำศพเก็บไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่สุสานและฌาปนสถาน

“สนธิ” ยื่นถอด “ตั้ม-เดชา” ออกจากทนาย

“สนธิ ลิ้มทองกุล” หอบหลักฐานบุกสภาทนายความ ถอดทนายตั้ม-ทนายเดชา ออกจากทนาย ระบุ ได้รับมอบอำนาจจาก “มาดามอ้อย” แล้ว เดินหน้าเอาผิด ทนายตั้มแบบสุดซอย ไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อผู้รู้กฎหมายอีก

รัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มยูเครน

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงยืนยันว่ารัสเซียยิงขีปนาวุธข้ามทวีปรุ่นใหม่ถล่มภาคตะวันออกยูเครนเมื่อวานนี้ ตอบโต้ที่ยูเครนใช้ขีปนาวุธที่ได้รับมอบจากสหรัฐและอังกฤษ

ข่าวแนะนำ

โค้งสุดท้าย ศึกสองนารีชิงเก้าอี้ นายก อบจ.นครฯ

เหลือไม่ถึง 2 วันแล้ว ที่ชาวนครศรีธรรมราชจะได้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ ศึกนี้เป็นการสู้กันเองของพรรคร่วมรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งต้องการรักษาฐานที่มั่นไว้ให้ได้ อีกฝ่ายต้องการเจาะฐานให้แตก เพื่อหวังครองที่นั่งการเมืองระดับชาติในสมัยหน้า

ร้อนระอุโค้งสุดท้าย ศึกชิงเก้าอี้ นายก อบจ.อุดรธานี

การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี ครั้งนี้ดุเดือดเกินคาด ผู้สมัครจาก 2 พรรคใหญ่ลงชิงชัย ต่างเร่งเครื่องเต็มที่ในโค้งสุดท้าย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย.นี้ ใครจะเป็นผู้คว้าชัยชนะและสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้จังหวัดอุดรธานี ไปติดตามจากรายงาน

ความเห็นนักวิชาการ คดีทักษิณ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและพรรคเพื่อไทย ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครอง ขณะที่นักวิชาการชี้ว่าไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมาย และผลจากคดีนี้ ไม่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง แต่ก็ยังมีจุดเสี่ยงที่ต้องระวัง