กรุงเทพฯ 2 ธ.ค. – “ศักดิ์สยาม” เดินหน้าเร่งเครื่องรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 โคราช-หนองคาย รถไฟทางคู่ ขอนแก่น-หนองคาย เข้า ครม. ภายในไตรมาส 2/65 ตั้งธงพร้อมเปิดให้บริการถึงหนองคาย ภายในปี 70 พร้อมลงนามไทย-เยอรมัน จับมือถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง ต่อยอดความรู้ระบบราง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 2 เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ขณะที่บริษัทที่ปรึกษาอยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจออกแบบ ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ เฟสที่ 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย คาดว่าภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2565 สรุปรายละเอียดเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ หากเห็นชอบจะดำเนินการขั้นตอนการประมูล ภายในปี 2565-2566 โดยมั่นใจว่าทั้ง 2 โครงการ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570 จะสามารถไปถึงบริเวณจังหวัดหนองคายได้ และเชื่อมต่อกับรถไฟลาว-จีนได้ด้วย
“ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงจีน-ลาว ที่เปิดให้บริการแล้วนั้น ทางกระทรวงคมนาคม จะมีการประเมินข้อมูลการให้บริการ ทั้งส่วนของผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า ว่าปริมาณมากน้อยแค่ไหนในแต่ละวัน เพื่อนำมาพิจารณาแนวทาง และเป็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อโครงการระบบราง ทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ของไทยในอนาคต” นายศักดิ์สยาม กล่าว
นอกจากนี้ นายศักดิ์สยาม ได้ร่วมลงนามความร่วมมือต่ออายุความร่วมมือไทย-เยอรมัน (JDI) และเปิดสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย และเปิดงานสัมมนา “รถไฟฟ้าความเร็วสูง โฉมใหม่ของระบบรางของประเทศไทย” การลงนามต่ออายุความตกลงแสดงเจตจำนงฯ ระหว่างสองประเทศ เป็นพลังสร้างสรรค์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลไทย โดยกระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านระบบรางที่เป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม จึงได้เร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทางและเชื่อมโยงธุรกิจและการค้า รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล
นอกจากนี้ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ลดเวลาการเดินทาง และเชื่อมโยงธุรกิจและการค้า รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นหัวข้อหลักของการสัมมนาในวันนี้ โดยรถไฟความเร็วสูงนั้น ประเทศไทยอยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟไทย-จีน และรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะสามารถเชื่อมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านคมนาคมในภูมิภาคต่อไป
นายศักดิ์สยาม กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้วางแนวทางการพัฒนาระบบราง นโยบายคือ การพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-Map) 10 สายทาง ระยะทางรวม 6,000 กิโลเมตร แบ่งเป็นแนวเหนือ-ใต้ 3 เส้นทาง แนวตะวันออก-ตะวันตก 6 เส้นทาง และแนวเส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 1 เส้นทาง ถือเป็นสิ่งที่จะพัฒนาระบบรางของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยเอกอัคราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย ได้ยืนยันว่ายินดีที่จะสนับสนุนต่อเนื่องตลอดไป
สำหรับประเทศเยอรมนี เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยได้วิจัยค้นคว้าและผลิตเทคโนโลยีระบบรางมาอย่างยาวนาน โครงการรถไฟฟ้าหลายโครงการได้ใช้เทคโนโลยีจากประเทศเยอรมนี จึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบรางของประเทศไทยเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย สามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมเช่นเดียวกับในเยอรมนี จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่สมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย ได้ก่อตั้งขึ้น
ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ รวมถึงประสานความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างเยอรมัน-ไทย ส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกันด้านระบบราง โดยหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้และฝึกอบรมในทุกระดับ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย ให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย Thai First เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป. – สำนักข่าวไทย