กรุงเทพฯ 25 พ.ย. – รมว.เกษตรฯ เผยเตรียมขอคืนสถานภาพปลอดกาฬโรคในม้าจากองค์การสุขภาพสัตว์โลกภายในปี 2566 หลังไม่พบโรคมาปีกว่าแล้ว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการตามข้อกำหนดและข้อเสนอแนะขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) จึงคาดว่า จะสามารถขอคืนสภาพปลอดโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (African Horse Sickness : AHS) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยภายในพ.ศ. 2566
ทั้งนี้ไทยรายงานพบการเกิดโรคไปยัง OIE เมื่อ 27 มีนาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งต้องหยุดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับม้า จึงส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อผู้เลี้ยงม้าอย่างมาก ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เช่น ไม่สามารถจัดการแข่งขันม้าทั้งภายในประเทศและระดับนานาชาติ ไม่สามารถเคลื่อนย้ายม้าข้ามจังหวัดหรือออกนอกประเทศ ไม่สามารถนำม้าให้บริการนักท่องเที่ยวหรือทำสันทนาการได้ ทำให้ผู้เลี้ยงม้าขาดรายได้
ที่ผ่านมาสั่งการให้กรมปศุสัตว์ควบคุมโรคในวงจำกัดทันที ทำให้ไม่พบโรค AHS มากว่า 1 ปีแล้ว หากคืนสถานภาพปลอดโรคได้จะทำให้ประเทศไทยลดผลกระทบและความสูญเสียจากโรคดังกล่าว อุตสาหกรรมม้าของประเทศกลับสู่ปกติ และสามารถจัดการแข่งขันกีฬาขี่ม้าในระดับนานาชาติ ซึ่งสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศไทยได้ต่อไปในอนาคต
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาร่วมกับทุกหน่วยงานกำหนดแผนปฏิบัติการการกำจัดโรค 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะเผชิญเหตุ ระยะที่ 2 ระยะเฝ้าระวังและป้องกันการอุบัติซ้ำของโรค และระยะที่ 3 ขอคืนสถานภาพรับรองการปลอดโรค AHS ในประเทศไทยจาก OIE โดยตามข้อกำหนด การขอคืนสถานภาพปลอดโรคจะต้องไม่พบม้าป่วยใหม่เพิ่มเติมในประเทศไทยเป็นระยะเวลา 2 ปี และต้องมีการหยุดการใช้วัคซีนภายในประเทศก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ปัจจุบันไม่พบการระบาดของโรค AHS ในไทยตั้งแต่เดือนกันยายน 2563
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องสอดคล้องกับข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บกของ OIE กรมปศุสัตว์จึงได้หารือ Dr. Susanne Muensterman ที่ปรึกษา OIE มาตั้งแต่ต้น โดย Dr. Susanne เดินทางมาประเทศไทยแล้ว เพื่อเป็นที่ปรึกษาและตรวจประเมินการดำเนินงานควบคุมและกำจัดโรค AHS ให้มีความสอดคล้องกับข้อกำหนดสุขภาพสัตว์บกของ OIE ก่อนที่ประเทศไทยจะยื่นขอรับรองคืนสถานภาพปลอดโรค โดย Dr. Susanne ได้ให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำเอกสาร รวมทั้งการปรับแนวทางและกิจกรรมการเฝ้าระวังโรคให้ครอบคลุมและครบถ้วนยิ่งขึ้น เช่น ปรับแผน Sentinel surveillance เพิ่มการเฝ้าระวังทางห้องปฏิบัติการในสัตว์กลุ่มม้าลายในพื้นที่เสี่ยง และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้มากขึ้น จึงมั่นใจว่า ขอคืนสถานภาพปลอดโรคจาก OIE ได้ภายในปี 2566 แน่นอน.-สำนักข่าวไทย