กรุงเทพฯ 19 พ.ย.-บีไอจีเตรียมลุยตลาดลดก๊าซเรือนกระจกขานรับ COP26 ยอดขายปีนี้โตร้อยละ11 ฟื้นตามภาวะส่งออก
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี ในฐานะผู้ผลิตก๊าซฯรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า ในปีนี้ ยอดความต้องการใช้ก๊าซฯทั้งภาคอุตสาหกรรมและโรงพยาบาลขยายตัว จากทั้งการส่งอออก และการใช้ในโรงพยาบาล เพื่อดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จึงส่งผลให้ปริมาณขายของบริษัท โตถึงร้อยละ 11 หรืออยู่ที่ประมาณ 4,200 ตัน/ปี รายได้ราว 5.5 พันล้านบาท จากที่ปีที่แล้วปริมาณขายหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจ และคาดว่าปีหน้าจะขยายตัวร้อยละ 5-6 และนับจากนี้ไปจากที่ไทยประกาศในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26)
เรื่องลดภาวะโลกร้อน ก็จะเป็นช่องทางการตลาดใหม่ของบีไอจี ในการนำเสนอเทคโนโลยีลดก๊าซเรือนกระจกแก่ผู้ประกอบการในไทย ควบคู่กับการจำหน่ายคาร์บอนจากสัดส่วนของบริษัทที่ลดได้ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพูดคุย และวางแนวทางในการนำเทคโนโลยี เข้าไปใช้ภาคการผลิต ในหลายราย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มด้านนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตที่มีการผสมผสานเทคโนโลยี โดยการนำ Internet of Things (IoT) ที่ บีไอจี นำมาจาก ที่บริษัท แอร์โปรดักส์ แอนด์ เคมิคอลส์ จำกัด จากประเทศสหรัฐฯ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่าในอนาคต ประเทศต่างๆทั่วโลก อาจมีการนำมาตรการทางภาษีมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
“โดยภาพรวมของปี 2564 ความต้องการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาคการผลิต ของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเลคทรอนิกส์ และการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดโควิด เริ่มคลี่คลายในทิศทางทีดีขึ้น ดังนั้นภาคการผลิตจะมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะต่อเนื่องไปถึง ปี 2566” นายปิยบุตรกล่าว
ทั้งนี้บีไอจีพร้อมเดินหน้าผลิตก๊าซอุตสาหกรรม อาทิ ออกซิเจน ไนโตรเจน และอาร์กอนป้อนภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาบีไอจีเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงแยกอากาศแห่งใหม่ที่ร่วมทุนต่อยอดนวัตกรรมร่วมกันระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบีไอจี ในนาม บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด : เอ็มเอพี (Map Ta Phut Air Products Co., Ltd. : MAP) โดยมีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมถึงกว่า 450,000 ตันต่อปี ทำให้บีไอจีมีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมรวมถึงกว่า 2,500,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้ โรงแยกอากาศเอ็มเอพี (MAP) ยังมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Emissions) สู่ชั้นบรรยากาศเนื่องจากเป็นการนำเทคโนโลยีการแยกอากาศโดยอาศัยพลังงานความเย็นที่ได้จากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลดการพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์นโยบายเกี่ยวกับ Climage Change ของภาครัฐ โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 28,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยน้ำเย็นลงสู่ทะเล 2,500 ตันต่อชั่วโมง
บีไอจียังพร้อมเดินหน้านำนวัตกรรมผลักดันอุตสาหกรรมไทยเข้าสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emissions อาทิเช่นนำนวัตกรรมจากออกซิเจนมาใช้ในอุตสาหกรรมแก้วและกระจก เพื่อทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ การนำนวัตกรรมจากไนโตรเจนในอุตสาหกรรมการถนอมอาหารทดแทนการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำนวัตกรรมจากไฮโดรเจนมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเพราะสิ่งที่เหลือจากการใช้งานคือ น้ำ ซึ่งจะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศการติดตั้งเทคโนโลยีระบบผลิตก๊าซ ณ โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ก๊าซเหลวที่ต้องขนส่งทางรถบรรทุก ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากภาคขนส่ง.-สำนักข่าวไทย