นครราชสีมา 17 พ.ย. – อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ร่วมกันชมรมด้านสิ่งแวดล้อมและชาวบ้านสร้างแนวรั้วไฟกระตุกและปลูกไผ่หนามเพื่อป้องกันสัตว์ป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ทั้งเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อสัตว์ป่าและแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกมายังชุมชน
นายอดิศักดิ์ ภูสิทธิ์วงศานุยุต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กล่าวว่า ร่วมกับชมรมฅนรักษ์สัตว์ป่าจัดสร้างแนวรั้วเพื่อป้องกันสัตว์ป่าออกหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์เนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระทิงเพศผู้ออกหากินนอกผืนป่าจนถูกกระแสไฟฟ้าจากเสาไฟส่องสว่างซึ่งชำรุดช็อตตาย ต่อมาเกิดเหตุการซ้ำในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ชาวบ้านตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมาจึงร่วมกับเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สำรวจพื้นที่รอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับที่ดินทำกินของชุมชนใกล้จุดเกิดเหตุ พบว่า มีช่องว่างระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตรซึ่งไม่มีบ้านเรือน จึงทำให้กระทิงเดินเข้าออกไปหากินตามริมถนนสาย 304 อยู่บ่อยครั้ง
ทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่จึงร่วมกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ชาวบ้านตำบลวังน้ำเขียว และชมรมฅนรักษ์สัตว์ป่าจัดทำแนวรั้วในลักษณะไฟกระตุกปิดช่องว่างดังกล่าว โดยนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ป่าออกมาหากินนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งกระแสไฟฟ้าจะไม่ส่งผลอันตรายต่อชีวิตของสัตว์ป่าและมนุษย์
นายอดิศักดิ์กล่าวต่อว่า อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ยังร่วมกับฝ่ายต่างๆ ดำเนินโครงการปลูกรั้วไผ่หนามเพื่อป้องกันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ท้องที่บ้านสันกำแพง อำเภอวังน้ำเขียวซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องหลายปีเพื่อป้องกันช้างออกมาสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรประชาชน เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ฉลาด การใช้รั้วไฟกระตุกอาจได้ผลไม่เต็มที่เพราะช้างสามารถหาวิธีหลบเลี่ยงออกมาได้ ทางเขาใหญ่จึงปลูกไผ่หนามให้เป็นธรรมชาติซึ่งต้นทุนต่ำและมีอายุยืนหลายสิบปี โดยเมื่อไผ่หนามโตระยะ 2-3 ปีจะมีแขนงแหลมยื่นออกมารอบลำต้นทำให้สัตว์ป่าขนาดใหญ่ไม่กล้าเข้าใกล้
ทั้งนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชมีแผนงานแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ป่าทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยระยะสั้นคือ การเครือข่ายในการเฝ้าระวังผลักดันสัตว์ป่าให้กลับเข้าไปในพื้นที่อุทยาน ระยะกลางคือ การทำรั้วไฟกระตุกหรือทำรั้วธรรมชาติซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละพื้นที่ ส่วนระยะยาวคือ สร้างหรือปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งหญ้า การเสริมแร่ธาตุอาหารในโป่งเทียมในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน.- สำนักข่าวไทย