กรุงเทพฯ 17 พ.ย. – กรมประมงเร่งเพาะพันธุ์ “ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์” ปลาน้ำจืดวงศ์เดียวกับม้าน้ำ จึงถูกจับส่งขายเพื่อทำยาจีน รวมถึงนำไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามเป็นจำนวนมาก จนใกล้สูญพันธุ์ เตรียมปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและส่งเสริมการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ รองอธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า กรมประมงกำลังติดตามสถานภาพทรัพยากร “ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์” ในแหล่งน้ำธรรมชาติต่างๆ ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิด เพื่อนำไปปล่อยเพิ่มปริมาณให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศ เนื่องจากปลาชนิดนี้เป็นปลาไทยที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ในอดีตพบมากในแม่น้ำน่าน เจ้าพระยา บางปะกง ท่าจีน แม่กลอง และพบชุกชุมในทะเลสาบสงขลา แต่ปัจจุบันมีน้อยลงมากเนื่องจากเป็นปลาที่ค่อนข้างอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพื่อนำไปใช้เป็นยาตามเวชศาสตร์แผนจีน เพราะเป็นสัตว์น้ำวงศ์เดียวกันกับม้าน้ำ ซึ่งมีการจับเพื่อส่งออกไปขายยังตลาดประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวันปีละ 8-10 ตันและสูงสุด 20 ตัน/ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 6-8 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ ยังเป็นที่นิยมของกลุ่มผู้เลี้ยงปลาสวยงามอีกด้วย
กรมประมงจะเพาะพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ให้มากขึ้นเพื่อปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติและส่งเสริมพัฒนาการเพาะเลี้ยงให้เป็นปลาเศรษฐกิจอีกด้วย เนื่องจากยังมีความต้องการสูงอย่างต่อเนื่องทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ โดยจะเป็นการช่วยลดปริมาณการจับจำหน่ายจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่ทำให้เกิดการประมงเกินกำลังการผลิตของธรรมชาติในอนาคต
นายเฉลิมพล เพ็ชรรัตน์ ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกล่าวว่า ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์เป็นปลาน้ำจืดที่อาศัยอยู่ตามบริเวณผิวน้ำ พบในแม่น้ำ ลำคลอง และหนองบึงที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำ ลำตัวมีลักษณะเรียวยาวและมีสัณฐานปล้องลำตัวเป็นเหลี่ยม เกล็ดของปลาชนิดนี้ได้เปลี่ยนรูปกลายเป็นแผ่นกระดูกแข็งเป็นข้อๆ รอบตัว ปากยื่นแหลมมีลักษณะเป็นหลอด ปลายปากคล้ายปากแตร ไม่มีฟัน ใช้ปากในการดูดอาหาร โดยจะกินกุ้งขนาดเล็กและตัวอ่อนของแมลงที่อาศัยอยู่ตามผิวน้ำ
สำหรับการแยกเพศดูจากลักษณะภายนอก เพศผู้บริเวณหน้าท้องจะเป็นร่องลึก มีขอบของแผ่นเกล็ดแผ่ยื่นออกมาเพื่อเป็นถุงฟักไข่ ขอบของถุงฟักไข่มีส่วนของแผ่นเกล็ดแผ่ยื่นออกมาทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอันตรายจากวัตถุภายนอกที่จะมากระทบไข่ ส่วนเพศเมียไม่มีแผ่นเกล็ดยื่นออกมาแต่จะมีเส้นสันท้องเป็นแนวยาว โดยขนาดที่สำรวจพบความยาวประมาณ 15 – 33 เซนติเมตร
ทั้งนี้กรมประมงศึกษาวิจัยเพื่อเพาะขยายพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์จนประสบความสำเร็จเมื่อปี 2563 ใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยรวบรวมพ่อแม่พันธุ์มาจากแม่น้ำน่าน 45 ตัว เป็นเพศผู้ 26 ตัว ความยาว 29.5-31.0 เซนติเมตร น้ำหนัก 13-14 กรัม เพศเมีย 19 ตัว ความยาว 29.0 -29.9 เซนติเมตร น้ำหนัก 15-19 กรัม นำมาเลี้ยงในบ่อคอนกรีต อัตราปล่อย 10 ตัวต่อ 1 บ่อ โดยให้กุ้งฝอยขนาดเล็กเป็นอาหารวันละ 1 ครั้ง แล้วคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาที่มีขนาดใกล้เคียงกันมาเพาะพันธุ์ในตู้กระจก โดยพ่อแม่ปลาจะเริ่มผสมพันธุ์วางไข่ในวันที่ 3-5 หลังจากการปล่อย แม่ปลาจะวางไข่ในช่วงเวลากลางวันตั้งแต่บ่ายถึงเย็น ใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 20-30 นาที วางไข่ครั้งละ 120-150 ฟอง ไข่มีลักษณะเป็นไข่ติด ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 8-10 วัน
ปัจจุบันเพาะพันธุ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ได้แล้ว 16 รุ่น รวม 647 ตัว และยังได้สนับสนุนองค์ความรู้ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดในพื้นที่อื่นๆ ในการเพาะขยายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีปริมาณที่มากเพียงพอที่จะปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป.- สำนักข่าวไทย